Translate

วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2556

FM102 Film History : ยุคบุกเบิก 1 ประดิษฐกรรมมหัศจรรย์

ยุคบุกเบิก (ค.ศ 1815 - 1895) ตอนที่ 1 ประดิษฐกรรมมหัศจรรย์

เครื่อง Magic Lantern
การศึกษาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์นั้นจำเป็นอย่างมากที่จะต้องศึกษาในเรื่องของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพราะเรามิอาจปฏิเสธได้ว่าเทคโนโลยีมีส่วนในการขับเคลื่อนอุตสหกรรมภาพยนตร์ และความก้าวกน้าทางเทคโนโลยีนี้ก็มีผลมาจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งในเวลาต่อมามันทำให้หน้าตาของโลกที่เรารู้จักเปลี่ยนไปผ่านการ "ปฏิวัติอุตสาหกรรม" นั้นเอง

ความพยามให้การสร้างภาพเคลื่อนไหวของมนุษย์นั้นเกิดขึ้นจากการศึกษาหลักการภาพติดตา (Persistence of Vision) ซึ่งถูกศึกษา ทดลอง และสาธิตโดยนักวิทยาศาสตร์มากมาย ซึ่งมันกลายมาเป็นหัวใจของการเกิดภาพเคลื่อนไหวหรือภาพยนตร์ในเวลาต่อมา ในที่สุดจากหลักการภาพติดตานี้ทำให้เกิดของเล่นทางวิทยาศาสตร์ขึ้นมามากมายได้แก่

Thaumatrope By Dr. John Aryton Paris
Thaumatrope (ทรอมาโทรป) โดย Dr. John Aryton Paris (บางตำราว่าถูกสร้างโดย Dr. William Henry Fitton) สิ่งประดิษฐ์นี้มีลักษณะเป็นแผ่นกลม มีภาพเขียนอยู่สองด้าน ที่นิยมกันมากคือรูปนกด้านหนึ่งอีกด้านหนึ่งเป็นกรงนก เวลาหมุนด้วยความเร็วพอเหมาะก็จะเห็นภาพเหมือนกับว่านกเข้าไปอยู่ในกรงนั่นเอง ซึ่งเกิดจากแนวคิดที่มนุษย์เราสามารถเห็นเหรียญทั้งสองด้านที่หมุนอยู่ได้พร้อมกัน ที่เรียกกันว่า มหัศจรรย์แห่งการหมุน (Wonder Turning) นั่นเอง







สิ่งประดิษฐ์อีกชิ้นหนึ่งได้แก่ Phenakistoscope (ฟิเนคิสโตสโครป) โดย Plateau มีลักษณะเป็นแผ่นกลมที่มีภาพชุดหนึ่งรวมกันอยู่ เช่น ภาพแมวกระโดด เวลาดูต้องส่องกระจกที่อยู่ด้านตรงข้ามกับแผ่นกลมจึงจะเห็นภาพเหล่านั้นเคลื่อนไหวได้

Phenakistoscope By Plateau
นอกจากนี้ยังมีสิ่งประดิษฐ์อีกชิ้นหนึ่งที่รู้จักกันอย่างมากและเป็นที่นิยมกันในยุดหนึ่งได้ Zoetrope (โซโทรป) หรือ Wheel of Life โดย George Horner ซึ่งมีลักษณะเป็นภาพชุดติดอยู่กับแกนหมุน เมื่อหมุนแกนภาพก็จะดูเหมือนเคลื่อนไหวได้
Zoetrope By George Horner
แต่การเดินทางของสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ก็ไม่อาจจะทำให้เกิดภาพยนตร์ได้ ตราบได้ที่ยังไม่มีภาพถ่าย ซึ่งถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ของภาพถ่ายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดภาพเคลื่อนไหวเราจะพบว่าบุคคลแรกที่ประยุกต์การใช้ภาพถ่ายให้เกิดภาพเคลื่อนไหวคือ Eadweard Muybridge ช่างภาพชาวอังกฤษที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานและทำอาชีพช่างถ่ายรูปอยู่ที่ซานฟรานซิสโก ในปี ค.ศ. 1872 Laland Standford ผู้ว่าการรัฐแคลลิฟอร์เนียซึ่งเป็นเจ้าของคอกม้าและนักแข่งม้าได้ท้าพนันกับคู่แข่งของเขาเป็นเงิน 25,000 ดอลล่าร์ว่า ในการควบวิ่งของม้านั้น จะมีเวลาหนึ่งที่ขาทั้งสี่ข้างของม้าลอยขึ้นเหนือพื้นดิน โดยว่าจ้างให้ Muybridge หาทางพิสูจน์ข้อเท็จจริง

Eadweard Maybridge
เขาหาทางพิสูจน์อยู่นานมาก จนได้รับการช่วยหลือจากเพื่อนของเขาที่เป็นวิศวกรชื่อ John D. Isaacs จึงสามารถพิสูจน์ได้ โดยเขาตั้งกล้อง 12 ตัวเรียงไว้ข้างสนาม แล้วขึงเชือกเล็กๆขวางทางวิ่งไว้ 12 จุด ซึ่งแต่ละจุดจะมีเชือกเส้นเล็กๆนั้นผูกติดกับไกชัตเตอร์ เมื่อม้าวิ่งโดนเชือก ไกของกล้องก็จะถูกเหนี่ยวและเกิดการถ่ายภาพขึ้น เมื่อ Muybridge ถ่ายภาพได้แล้ว ก็นำภาพที่ได้มาติดวงล้อหมุน แล้วฉแายด้วยเครื่อง Magic Lantern ทำให้เห็นการเคลื่อนไหวของม้าต่อเนื่องเหมือนจริง หลังจากนั้นเขาก็ได้ทดสอบซ้ำอีกครั้งกับกล้อง 24 ตัว จนในที่สุดเขาก็สามารถพิสูจน์ได้ในที่สุด

หลังจากนั้น Muybridge ก็ได้ถ่ายและฉายภาพเคลื่อนไหวแบบเดียวกันนี้เป็นอาชีพ และแถบภาพหรือภาพชุดในของเล่นภาพติดตาทั้งหลายก็ได้เปลี่ยนมาเป็นภาพถ่ายแทนภาพเขียน แต่การถ่ายภาพของเขาก็ยังไม่ถือว่าเป็นภาพยนตร์แต่อย่างใด เนื่องจากว่ามันถ่ายทำด้วยกล้องภาพนิ่งและต้องใช้กล้องเป็นจำนวนมากตั้งแต่ 12 ตัว หรือ 20 หรือบางทีมากถึง 40 ตัวเลยทีเดียว มันจึงถือว่าเป็นการจับภาพหรือถ่ายภาพของสิ่งที่เคลื่อนไหวเร็วๆให้หยุด (Stop Motion) มากกว่าที่จะสร้างภาพเคลื่อนไหวให้ปรากฏบนจอ


Etienne Jules Marey
และในปี ค.ศ. 1881 สแตนฟอร์ด ได้นำภาพถ่ายชุดแสดงการเคลื่อนไหวของเมบริดจ์ไปให้กับนักวิทยาศาสตร์ และกลุ่มศิลปินในยุโรปชม ที่กรุงปารีส โดยที่ Muybridge เดินทางไปด้วย และได้พบกับ Etienne Jules Marey นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศษที่สนใจศึกษาในเรื่องของภาพเคลื่อนไหว และมารีก็ได้นำเอาเทคนิดของเมบริดจ์นี้ไปพัฒนาสร้างปืนถ่ายภาพ อันเป็นการใช้กล้องตัวเดียวในการถ่ายภาพเคลื่อนไหวได้สำเร็จในปี 1882 แต่มันก็ยังไม่สามารถที่จะบันถึงภาพเคลื่อนไหวได้ยาวนานกว่า 2-3 วินาทีได้





ปืนถ่ายภาพ ของ Etienne Jules Marey
จนถึงตอนนี้เราใกล้เดินทางมาถึงจุดกำเนิดของภาพยนตร์อย่างแท้จริงแล้ว การเดินทางย้อนเวลาในโลกของภาพยนตร์นั้นเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับช่วงเวลาและเทคโนโลยีอย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้น จึงมีผู้รู้ได้กว่าไว้ว่า "พัฒนาการของภาพยนตร์ เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับพัฒนาการของศิลปะและเทคโนโลยี" เราจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาพัฒนาการของศิลปะและเทคโนโลยีไปพร้อมๆกับประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์นั่นเอง


Animagus

...................................................................................................................................................................
อ้างอิง
  • เยาวนันท์ เชฏฐรัตน์. ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา กรมการศาสนา
  • ........... . เอกสารการสอนชุดวิชา การสร้างสรรค์และการผลิตภาพยนตร์เบื้องต้น มหาวิทยาลัยสุโขทัยรรมาธิราช. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.พิมพ์ครั้งที่ 2, 2533
  • James Monaco. (2009). How to read a Film. New York : Oxford University Press,Inc.
  • http://filmv.wordpress.com/unit-1/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%94/
  • http://www.procrastin.fr/blog/?2008/06/22/137-tir-photographique=
  • http://www.eadweardmuybridge.co.uk/muybridge_image_and_context/introducing_muybridge/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น