Translate

วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2556

FM101 Introduction to Film : Film Genre 2 Realism พลังแห่งความเหมือนจริง

Film Genre ตอนที่ 2 Realism พลังแห่งความเหมือนจริง

"Artists Sketching in the White Mountains" by Winslow Homer
ภาพยนตร์แนว Realism หรือมีชื่อแบบไทยๆ เก๋ๆ ว่า ภาพยนตร์แนวสัจนิยม นั้น เริ่มต้นมาจากการบันทึกภาพในเชิงสารดีของสองพี่น้อง Lumiere ผลงานที่โด่งดังมากเรื่องหนึ่งของเขาสร้างขึ้นในปี 1895 ชื่อว่า “Arriver d’un train en gare” หรือ The Arrival of a Train มันเป็นภาพยนตร์ที่สามารถชวนเชื่อให้ผู้ชมในโรงภาพยนตร์วิ่งหนีออกจากโรงกันเลยทีเดียวเพราะกลัวรถไฟจะทะลุออกมาจริงๆ


ภาพยนตร์สัจนิยมนั้นเน้นการนำเสนอความจริงเป็นหลัก โดยใช้เทคนิคของภาพยนตร์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในบางครั้งหนังเรียลิสต์พยายามถ่ายทำให้ดูหยาบกระด้าง เถื่อน หรือหลีกเลี่ยงภาพที่สวยเกินไป เนื่องจากแนวคิดที่ว่าภาพที่สวยงามเกินไปนั้นเกิดจากการปรุงแต่ง

The Story of Qiu Ju (1992) by Yimou Zhang
นักทฤษฎีคนสำคัญของลัทธิสัจนิยมชื่อ Andre Bazin ได้กล่าวไว้ว่า “ภาพยนตร์ไม่ใช่ศิลปะ (Art) แต่เป็นการสะท้อนความจริงในโลก” นั่นนำมาซึ่งเทคนิคในการถ่ายทำภาพยนตร์แนวสัจนิยมที่พยายามจะนำเสนอโลกโดยไม่ผ่านเทคนิคใดๆที่จะพยายาม “สร้าง” อารมณ์ร่วมให้เกิดขึ้นแก่คนดูแต่กลับให้เขาเกิดอารมณ์ความรู้สึกจาก “เนื้อหา” (Content) ของภาพยนตร์ที่สมจริงที่สุดผ่านการนำเสนอแบบอัตวิสัย (objective)

ส่ิงที่เราจำเป็นที่จะต้องเข้าใจก่อนคือความแตกต่างระหว่างคำว่า Realism (สัจจนิยมหรือลัทธิเหมือนจริง) กับคำว่า Reality (ความเป็นจริง) เพราะในความจริงแล้วแม้ภาพยนตร์สัจนิยมนั้นมุ่งเน้นการนำเสนอความจริงก็ตาม แต่ก็มิอาจหลีกเลี่ยงการใช้เทคนิคได้ทั้งหมด ดังนั้น ภาพยนตร์สัจนิยมจึงเป็นเพียงการถ่ายถอดความเหมือนจริงผ่านกล้อง มิใช่การถ่ายถอดความเป็นจริงทั้งหมด ฉะนั้นแล้ว Reality หรือความเป็นจริง จึงเป็นเพียงแค่วัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผลงาน Realism เท่านั้น

ดังนั้นแล้วภาพยนตร์ Realism  จึงมักจะกล่าวถึงปัญหาทางสังคมในด้านใดด้านหนึ่ง มันทำหน้าที่เหมือนกระจกสะท้อนความเป็นไปในโลกของความเป็นจริงอย่างตรงไปตรงมา แต่ด้วยความที่หนังเรียลิสต์มีการปรุงแต่งด้วยเทคนิคแต่น้อย ผู้ชมจึงมักไม่สังเกตเห็นทั้งสไตล์หรือรูปแบบการนำเสนอ ตลอดจนตัวตนของผู้สร้างสรรค์ผลงานในโลกของเรียลิสต์นั้น คนทำหนังจะให้ความสำคัญกับเนื้อหา (Content) มากกว่ารูปแบบการนำเสนอ (Form) ดังนั้นบทบาทของกล้องก็จะถูกใช้แค่ทำหน้าที่ในการบันทึกภาพความเป็นจริงเท่านั้น โดยไม่ล่วงเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นในทางใดทางหนึ่ง นั่นหมายความว่า ผู้ชมถูกกำหนดให้เฝ้ามองสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในฐานะผู้สังเกตการณ์เท่านั้น

กล่าวเพียงเท่านี้ ผู้อ่านคงยังไม่เข้าใจถึงแนวทางหรือรูปแบบการนำเสนอของภาพยนตร์ Realism ดังนั้นผู้เขียนของยกตัวอย่างภาพยนตร์บางเรื่องที่มีรูปแบบในการนำเสนอไปในทาง Realism ดังต่อไปนี้

ภาพยนตร์เรื่อง The Bicycle Thief (1948) by Vittorio De Sica.

ภาพยนตร์เรื่อง The Bicycle Thief (1948) มุ่งเน้นการนำเสนอเรื่องราวของสังคมอิตาลีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยความเรียบง่ายและตรงไปตรงมา ภาพยนตร์ได้วิพากษ์แง่มุมต่าง ๆ ในสังคม ทั้งความเฉยเมยของตำรวจ ความเข้มงวดจนไร้น้ำใจของศาสนา สภาพความเป็นอยู่ที่เหมือนไม่ใช่คนในแถบชานเมือง โดยมุ่งไปที่ปัญหาของชายคนเดียว เรื่องเริ่มต้นขึ้นมาอย่างง่ายๆ แต่กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่สะเทือนใจคนดูได้ อีกทั้งยังแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างอันโตนิโอกับลูก จากความอบอุ่นที่มีให้กันจนถึงขั้นสุดท้ายที่บรูโนได้เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ จากการตามหาจักรยานกับพ่อเพียงแค่ชั่วระยะเวลาสั้น ๆ เพราะได้เรียนรู้ถึงความจริงที่โหดร้ายของสังคม







หนังบอกจุดยืนความเป็น Realism อย่างชัดเจน ตั้งแต่การปฏิเสธนักแสดงอาชีพมาเล่น และนำกรรมกรจริงๆมาเล่นเป็นตัวเอกของเรื่อง เพื่อให้เกิดความสมจริง จนมีคำวิพากษ์วิจารณ์ว่านักแสดงกำลังเป็นตัวเองมากกว่าเป็นการแสดงเลยทีเดียว นอกจากนี้หนังใช้เทคนิคด้านภาพน้อยมาก เน้นการถ่าย Long Shot และ Medium Shot มากกว่าการใช้ภาพ Close up เพื่อให้เกิดระยะห่างระหว่างคนดูกับตัวละคร เปรียบเสมือนให้คนดูนั้นทำหน้าที่เพียงติดตามและเฝ้ามองชีวิตของตัวละครเท่านั้น มีการใช้ภาพชัดลึก (Deep Focus) เพื่อให้เห็นภาพตามความเป็นจริงอีกด้วย นอกจากนี้หนังยังหลีกเลี่ยงการตัดต่อและใช้ภาพ Long take แทนอีกด้วย จะเห็นได้ว่าถึงแม้ว่า The Bicycle Thief จะมีการใช้เทคนิคในการนำเสนออยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้โดดเด่นมากมายจนผิดสังเกต และยังทำหน้าที่ในการถ่ายถอดวิถีชีวิตของคนในสังคมอย่างตรงไปตรงมาอีกด้วย




Animagus
...................................................................................................................................................................
อ้างอิง
  • ประวิทย์ แต่งอังกษร. มาทำหนังกันเถอะ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Bioscope. พิมพ์ครั้งที่ 3, 2556
  • ........... . เอกสารการสอนชุดวิชา ทฤษฎีและการวิจารณ์ภาพยนตร์เบื้องต้น มหาวิทยาลัยสุโขทัยรรมาธิราช. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.พิมพ์ครั้งที่ 1, 2548
  • http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=yuttipung&month=03-07-2005&group=4&gblog=13
  • http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%99
  • http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=pongpongu&month=01-2008&date=08&group=2&gblog=7
  • http://msnoel.com/Realism_Naturalism/Realism_Naturalism.html
  • http://www.youtube.com/watch?v=v6i3uccnZhQ
  • http://www.youtube.com/watch?v=hjsl_Co36mk

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น