เหตุผลที่ผมเลือกที่จะเขียนเรื่องราวของประเภทของภาพยนตร์ก่อนเรื่องอื่นๆ คือ มีการถกเถียงกันอย่างมากในกลุ่มนักศึกษาหนังว่า "ตกลงแล้วภาพยนตร์มีกี่ประเภท? อะไรบ้าง?" ซึ่งก็เป็นปัญหาอยากมากในการแบ่งประเภทของภาพยนตร์ได้อย่างชัดเจน เพราะภาพยนตร์เป็นศิลปะที่ไม่มีลักษณะตายตัว ดังนั้นการแบ่งประเภทของภาพยนตร์จึงเป็นเรื่องยาก
Genre (อ่านว่า ฌอง-ร่า) เป็นคำภาษาฝรั่งเศส แปลว่า ชนิด หรือ ลักษณะ ซึ่งก็หมายถึงการกำหนดคำเรียกให้กับชนิดของศิลปะแต่ละประเภท ซึ่งมองได้อย่างไม่มีขอบเขต โดยวัดจากส่วนประกอบหลักๆ 3 อย่าง ได้แก่ เวลาและสถานที่ (Setting) , อารมณ์ (Mood), รูปแบบการนำเสนอ (Format)
ถ้าเราศึกษาภาพยนตร์ในระดับหนึ่งเราจะพบว่า การแบ่งประเภทของภาพยนตร์ที่ใช้รูปแบบการนำเสนอ (form) เป็นเกณฑ์แบ่งภาพยนตร์อย่างกว้างๆ ได้แก่
- ภาพยนตร์สัจนิยม (Realism)
- เน้นการนำเสนอความจริงไม่ปรุงแต่งออกสู่สายตาโดยผ่านกล้อง หนังประเภทนี้มักหลีกเลี่ยงรูปแบบ (form) ในการนำเสนอ บันทึกภาพความจริง
- ภาพยนตร์รูปแบบนิยม (Formalism)
- ภาพยนตร์ประเภทนี้เน้นการนำเทคนิคทางศิลปะเข้ามาช่วยในการนำเสนอ โดยภาพยนตร์ประเภทนี้ต้องอาศัยการตีความตามรูปแบบที่ผู้กำกับหรือผู้สร้างต้องการจะนำเสนอ
ซึ่งทั้งสองแนวทางนี้อาจเป็นการแบ่งประเภทของภาพยนตร์ที่ไม่ได้ดีที่สุดหรือถูกต้องที่สุด แต่ก็พอจะเป็นแนวทางในการแบ่งประเภทกันได้อย่างคร่าวๆ นอกจากนี้มีภาพยนตร์บางส่วนที่อาศัยแนวทางทั้งสองแนวทางนี้ในการนำเสนอเพื่อความบันเทิง (fiction film) หรือภาพยนตร์แนวบันเทิงคดี ซึ่งนักวิชาการทางภาพยนตร์จึงได้จัดแบ่งภาพยนตร์ประเภทนี้ว่าเป็นภาพยนตร์แนว Classical Cinema ซึ่งอยู่ตรงระหว่างภาพยนตร์ Realism และ Formalism นั่นเอง ซึ่งการให้รายละเอียดของภาพยนตร์ทั้ง 3 แบบนี้เพียงแค่นี้ คงมิอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ถึงแนวทางของภาพยนตร์เหล่านี้ได้อย่างชัดเจน เราจึงจำเป็นจะต้องขยายความเรื่องนี้ออกไปอีก ซึ่งเราจะกลับมาคุยกันได้เรื่องนี้กันอีกครั้ง
แต่นอกจากการแบ่งประเภทของภาพยนตร์ตามรูปแบบการนำเสนอ (form) แล้ว ยังมีการแบ่งประเภทของภาพยนตร์ที่เป็นที่นิมยมกันอย่างกว้างขวาง คือ การแบ่งประเภทตามเนื้อหา (content) ซึ่งตำราบางเล่มอาจจะเรียกว่า "ตระกูลของภาพยนตร์"
- ภาพยนตร์นิยายวิทยาศาสตร์ (Sciance Fiction Film)
- ภาพยนตร์จินตนาการ (Fantasy Film)
- ภาพยนตร์ผจญภัย (Adventure Film)
- ภาพยนตร์สยองขวัญ (Horror Film)
- ภาพยนตร์ฟิล์มนัวร์ (Film Noir)
- ภาพยนตร์เมโลดราม่า (Melodrama)
- ภาพยนตร์ตลก (Comedy)
- ภาพยนตร์แอ๊กชั่น (Action Film)
- ภาพยนตร์สงคราม (War Film)
- ภาพยนตร์คาวบอยตะวันตก (Wastern)
- ภาพยนตร์เพลง (Musical)
- ภาพยนตร์รักโรแมนติก (Romance)
- ภาพยนตร์การ์ตูน (Animation)
- ภาพยนตร์สารคดี (Documentary Film)
และตระกูลอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งการแบ่งประเภทของภาพยนตร์แบบนี้เป็นที่รู้จักกันดีอย่างกว้างขวาง เพราะง่ายต่อการจัด แต่ปัญหาก็คือ ภาพยนตร์ในยุคใหม่ๆที่มีความซับซ้อนขึ้นทางด้านเนื้อหาทำให้ภาพยนตร์หนึ่งเรื่องไม่สามารถจัดให้อยู่ในตระกูลเพียงตระกูลเดียวได้ ทำให้อาจจะเกิดความสับสนทางด้านเนื้อหาเป็นได้
นอกจากนี้ยังมีการแบ่งประเภทของภาพยนตร์ในอีกหลายแบบ เช่น จำแนกตามหน้าที่หลักของการสื่อสาร (ภาพยนตร์ข่าว, ภาพยนตร์เพื่อการศึกษา , ภาพยนตร์เพื่อโน้มน้าวชักจูงใจ , ภาพยนตร์บันเทิง) จำแนกตามกลุ่มเป้าหมาย (ภาพยนตร์สำหรับบุคลทั่วไป, ภาพยนตร์เฉพาะกลุ่มบุคคล) หรือจำแนกตามกฏหมายหรือเรตของภาพยนตร์ เป็นต้น
Animagus
...................................................................................................................................................................
อ้างอิง
- ประวิทย์ แต่งอังกษร. มาทำหนังกันเถอะ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Bioscope. พิมพ์ครั้งที่ 3, 2556
- ธิดา ผลิตผลการพิมพ์. เขียนบทหนังซัดคนดูให้อยู่หมัด. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Bioscope. พิมพ์ครั้งที่ 3, 2556
- ........... . เอกสารการสอนชุดวิชา การสร้างสรรค์และการผลิตภาพยนตร์เบื้องต้น มหาวิทยาลัยสุโขทัยรรมาธิราช. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.พิมพ์ครั้งที่ 2, 2533
- ........... . เอกสารการสอนชุดวิชา ทฤษฎีและการวิจารณ์ภาพยนตร์เบื้องต้น มหาวิทยาลัยสุโขทัยรรมาธิราช. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.พิมพ์ครั้งที่ 1, 2548
- http://jguest11.wordpress.com/2010/12/02/technical-changes/
- http://filmv.wordpress.com/unit-1/%E0%B9%93-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%97%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C/
- http://www.flickpeople.com/?p=142
- http://www.thaidfilm.com/simple/?t12745.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น