Translate

วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556

FM103 Film Aesthetics : Film Form 2

Film Form.... ตอนที่ 2 : Principle of Film Form

Battleship Potemkin (1925)
เรารู้จัก Film Form ไปแล้วว่า มันคือ แนวทางในการศึกษาภาพยนตร์อย่างเป็นระบบ โดยศึกษาองค์ประกอบต่างๆของภาพยนตร์ที่ทำงานอย่างสัมพันธ์กัน รวมไปถึงสิ่งที่ผู้ชมจะได้รับอีกด้วย ดังนั้นสิ่งที่เราจะต้องเข้าใจในเรื่องต่อไปคือ "Film Form มันทำงานอย่างไรหละในภาพยนตร์?" นั่นคือการศึกษา Principle of Film Form หรือหลักการของ Film Form นั่นเอง

หลักการของ Film Form นี้พูดถึงภาพรวมของสิ่งต่างๆที่ผู้ชมสามารถรับรู้หรือสังเกตเห็นได้จากในภาพยนตร์ทั่วๆไป ถึงแม้ว่าภาพยนตร์แต่ละเรื่องจะมีเอกลักษณ์ในการนำเสนอแตกต่างกันไป แต่ภาพยนตร์เหล่านั้นล้วนอาศัยหลักการพื้นฐานของ Film Form เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารความหมาย อารมณ์หรืออะไรก็ตามที่ผู้สร้างต้องการให้ผู้ชมได้รับ ซึ่งเราสามารถจำแนกให้เห็นได้ว่ามีหลักการทั่วไป 5 ประการที่มีบทบาทต่อการทำงานของรูปแบบของภาพยนตร์ ได้แก่
  • หน้าที่ (Function)
  • ความคล้ายคลึงและการทำซ้ำ (Similarity and Repetition)
  • ความแตกต่างและความหลากหลาย (Difference and Variation)
  • การพัฒนาเรื่อง (Development)
  • ความเป็นเอกภาพและความไม่เป็นเอกภาพ (Unity and Disunity)

หน้าที่ (Function)
     
เวลาเราดูหนังเรามักจะพบว่า หนังแต่ละเรื่องนั้นมีรูปแบบของการทำเสนอที่แตกต่างกัน เช่น การจัดแสงมืดหรือสว่าง สีของเสื้อผ้าที่แตกต่างกันของแต่ละตัวละคร เป็นต้น เราก็จะเกิดคำถามว่า "ทำไมมันต้องจัดแสงแบบนี้วะ?" หรือ "ทำไมตัวร้ายตัวนี้ต้องใส่เสื้อสีแดงตลอดเวลา ตู้เสื้อผ้าไม่มีสีอื่นเลยไง?" หรือ "ทำไมภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องใช่แต่สีขาวดำ?" คำถามทั้งหมดทั้งมวลนี้ คำตอบคือ เป็นเพราะส่วนประกอบเหล่านั้นมันทำหน้าที่อะไรบางอย่างในภาพยนตร์ ซึ่งมันจำเป็นจะต้องมีปัจจัยที่กำหนดหน้าที่ของส่วนต่างๆเหล่านั้นในหนัง ส่วนประกอบทุกส่วนจะต้องมีบทบาทหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ตัวละครทุกตัวหรือสิ่งของทุกสิ่งที่ปรากฏในภาพยนตร์จะต้องมีหน้าที่บอกอะไรบางอย่างเสมอ ตัวอย่างเช่น

Brave (2012)
แสงและสีในฉากของภาพยนตร์เรื่อง Brave (2012) ฉากนี้เป็นฉากที่เด็กสาวกำลังจะถูกนำพาให้ไปเจอกับแม่มดซึ่งทำให้เกิดเรื่องร้ายแรงตามมาในเรื่อง โทนสีของฉากนี้มืดมนลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งแตกต่างจากตอนต้นเรื่องที่สีสันสดใส บ่งบอกถึงความที่เด็กสาวมีลักษณะนิสัยสนุกร่าเริง นั่นแสดงให้เห็นว่า องค์ประกอบทางด้านแสงและสีในภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้ทำหน้าที่บอกความหมายบางอย่างในภาพยนตร์นั่นเอง



ความคล้ายคลึงและการทำซ้ำ (Similarity and Repetition)
     
เราคงเคยหนังบางเรื่องที่เราสังเกตเห็นอะไรบางอย่างที่ปรากฏออกมาอย่างซ้ำๆหรือคล้ายคลึงกันในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์ประกอบฉาก สี สถานที่ เสียง ภาพ หรือแม้แต่นิสัยบางประการของตัวละคร และตอนสุดท้ายของเรื่องมันมีผลต่อความเข้าใจหรือการตีความเนื้อเรื่องนั้นๆ ตัวอย่างเช่น

Inception (2010)
ในภาพยนตร์เรื่อง Inception (2010) ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางเข้าไปในโลกของความฝัน ซึ่งเรื่องจะเล่าสลับกันไปมาระหว่างโลกแห่งความจริงและความฝัน ซึ่งปัญหาก็คือ แล้วโลกไหนเป็นโลกแห่งความจริงและโลกไหนคือโลกแห่งความฝัน ซึ่งหนังก็ได้เฉลยหรือบอกใบ้เราด้วยอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งหรือที่เรียกว่า Totem ที่เห็นได้ตลอดทั้งเรื่อง หซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องอย่างมากหรือแม้แต่นิสัยส่วนตัวของพระเอกที่มักจะนำอดีตภรรยาเข้ามามีส่วนร่วมในความฝัน ซึ่งนั่นก็สะท้อนให้เห็นหลักการของ Film Form ข้อนี้นั่นเอง

ความคล้ายคลึงและการทำซ้ำเป็นหลักการสำคัญของรูปแบบภาพยนตร์ การดูภาพยนตร์ให้รู้เรื่องขึ้นอยู่กับความสามารถในการจดจำสิ่งที่เกี่ยวข้องคล้ายคลึงกัน โดยเราจำเป็นที่จะต้องจำตัวละครและฉากต่างๆได้ เมื่อหวนกลับมาปรากฏอีกครั้ง ในภาพยนตร์แต่ละเรื่องเราสามารถสังเกตเห็นความคล้ายคลึงและความซ้ำของทุกสิ่งได้ตลอดทั้งเรื่อง นับตั้งแต่บทสนทนา ดนตรี ไปจนถึงตำแหน่งของกล้อง พฤติกรรมของตัวละคร และการกระทำในเรื่อง ซึ่งการที่เราจำความคล้ายและความซ้ำนี้ได้จะทำให้เราเกิดความพึงพอใจในการชมภาพยนตร์เหมือนเช่นเวลาอ่านบทกวีที่มีเสียงซ้ำกันเป็นจังหวะ

เรามีคำเรียกความซ้ำของรูปแบบว่า โมทีฟ (Motif) ส่วนประกอบที่มีความซ้ำกันอยู่ในภาพยนตร์ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ สี เสียง สิ่งต่างๆ หรือแม้แต่บุคลิเฉพาะของตัวละครเราก็เรียกว่าโมทีฟ (Motif) และถ้าการจัดแสงหรือการวางตำแหน่งกล้องปรากฏขึ้นซ้ำๆกันตลอดทั้งเรื่อง เราก็เรียกมันว่าโมทีฟ (Motif) เช่นกัน

ความแตกต่างและความหลากหลาย (Difference and Variation)

คนดูมักคาดหวังให้เรื่องดำเนินไปหรือเกิดความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอแทนที่เรื่องจะอยู่กับที่ รวมทั้งยังคาดหวังที่จะเห็นความหลากหลายในองค์ประกอบต่างๆอีกด้วย เช่น ฉาก ตัวละคร อุปกรณ์ประกอบฉาก เป็นต้น ดังนั้นรูปแบบการนำเสนอในภาพยนตร์แต่ละเรื่องจำเป็นที่จะต้องให้เกิดความหลากหลายและแตกต่างกันเพื่อเป็นเอกลักษณ์และตอบสนองความต้องการของผู้ชม หากรูปแบบประกอบด้วยความซ้ำเพียงอย่างเดียว ก็เป็นรูปแบบที่น่าเบื่อได้ แต่ภาพยนตร์จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือความหลากหลายด้วยไม่มากก็น้อย คามแตกต่างจึงเป็นหลักการพื้นฐานอย่างหนึ่งของรูปแบบภาพยนตร์

ฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง Inception (2010)
แม้ว่าโมทีฟ (Motif) จะปรากฏขึ้นหลายครั้ง มันก็จะไม่เหมือนกันทุกครั้ง เช่น ในเรื่อง Inception (2010) การตื่นจากฝันของตัวละครแต่ละครั้งก็ไม่เหมือนกัน หรือเหตุการณ์ที่ทำให้ Totem ของพระเอกปรากฏในเรื่องแต่ละครั้งก็ไม่เหมือนกัน เป็นต้น

การพัฒนาเรื่อง (Development)

เรื่องราวที่ดีนั้นคือเรื่องราวที่เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ ดังนั้นการนำเสนอรูปแบบขององค์ประกอบต่างๆจำเป็นที่จะต้องสัมพันธ์กับเรื่องราวที่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปข้างหน้า โดยการพัฒนาเรื่องราวจะดำเนินไปเป็นช่วงๆ ดังภาพ 


  • การเปิดเรื่อง (Exposition)
  • การพัฒนาเรื่องราว (Rising Action)
  • จุดสูงสุดของเรื่อง (Climax)
  • การคลี่คลาย (Falling Action & Resolution)
การพัฒนาคือกระบนการที่ก้าวไปข้างหน้า จากตอนหนึ่งไปสู่อีกตอนหนึ่ง วิธีการหนึ่งในการที่จะบอกว่าภาพยนตร์มีการพัฒนาเพียงไรก็คือ การเปรียบเทียบตอนต้นเรื่องกับตอนท้ายเรื่อง โดยมองหาความคล้ายคลึงและความแตกต่างระหว่างตอนต้นกับตอนท้ายนี้จะทำให้เราเข้าใจแบบรูป (pattern) ทั้งหมดของภาพยนตร์

ความเป็นเอกภาพและความไม่เป็นเอกภาพ (Unity and Disunity)

การทำงานของ Film Form ที่ดีจำเป็นต้องอาศัยความสัมพันธ์กันระหว่างการเล่าเรื่อง (Narrative) และวิธีการเล่าเรื่อง (style) ดังนั้นในระหว่างที่เรื่องดำเนินไปการเล่าเรื่องและกลวิธีก็จะทำงานอย่างสัมพันธ์กันตลอดทั้งเรื่องทำให้เกิดความเป็นเอกภาพ หรือพูดง่ายๆคือมันเล่าเรื่องไปในทิศทางเดียวกันตลอดทั้งเรื่อง หากส่วนต่างๆที่ใส่เข้าไปในเรื่องแล้วไม่ได้ทำหน้าที่อะไร หรือใส่ไปแล้วไม่ได้ช่วยเล่าเรื่องหรือช่วยสื่อความหมายใดๆหนังเรื่องนั้นก็อาจะเรียกได้ว่า ไม่มีเอกภาพ

แต่ก็มีผู้สร้างหนังบางคนที่เลือกใช้ความไม่เป็นเอกภาพมาใช้เป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่อง เพื่อให้เกิดผลบางอย่าง และเป็นกลวิธีส่วนตัวของผู้สร้างนั่นเอง

Totem ของพระเอกในเรื่อง Inception (2010)
และทั้งหมดนี้คือหลักการในการทำงานของ Film Form เพื่อเป็นแนวทางในการใช้กลวิธีในการเล่าเรื่องได้อย่างเต็มความสามารถและเกิดผลมากที่สุด ดังนั้นเรื่องของ Film Form จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่ไม่ว่านักเรียนหนัง ผู้กำกับ คนทำงานในอุตสหรรมภาพยนตร์ หรือแม้แต่กระทั่งคนดูหนังต้องศึกษา เพื่อให้เกิดความเข้าใจภาพยนตร์อย่างถ่องแท้

Animagus
Update Thu Sep 5 2013
...................................................................................................................................................................
อ้างอิง
  • ประวิทย์ แต่งอังกษร. มาทำหนังกันเถอะ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Bioscope. พิมพ์ครั้งที่ 3, 2556
  • ........... . เอกสารการสอนชุดวิชา ทฤษฎีและการวิจารณ์ภาพยนตร์เบื้องต้น มหาวิทยาลัยสุโขทัยรรมาธิราช. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.พิมพ์ครั้งที่ 1, 2548
  • Ron Johnson & Janbone. (1978). Understanding the Film. U.S.A. : National Textbook Company
  • Jill Nelmes. (1996). An Introduction to Film Studies. London : Simultaneously published
  • Leo Braudy & Marshall Cohen. (1999). Film Theory and Criticism. New York : Oxford University Press, Inc.
  • John Hill & Pamela Church Gibson. (2000). Film Studies. New York : Oxford University Press, Inc.
  • David Bordwell & Kristin Thompson. (2012) Film Art: An Introduction. The McGraw-Hill Companies, Inc.
  • http://www.elementsofcinema.com/film_form/FILM-FORM.html
  • http://criticalmissmoviesandreviews.blogspot.com/2012/05/mass-effect-3-ending.html
  • http://www.sliceofscifi.com/2012/06/22/brave-a-slice-of-scifi-movie-review/
  • http://www.birthofgaia.com/t107p30-xeia-s-archives

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น