Translate

วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556

FM101 Introduction to Film : Film Genre 4 Classical Cinema พลังแห่งการเร้าอารมณ์

Film Genre ตอนที่ 4 Classical Cinema พลังแห่งการเร้าอารมณ์

Star Wars: Episode III - Revenge of the Sith (2005)  by George Lucas
เมื่อถึงยุคหนึ่งที่ภาพยนตร์ไม่ได้เป็นเพียงเทคโนโลยีในการบันทึกภาพหรือเป็นเพียงแค่ศิลปะ ภาพยนตร์พัฒนาไปไกลจนกลายเป็นอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงที่พยายามจะตอบสนองความต้องการของผู้ชม มันทำให้ผู้สร้างต้องคิดหาวิธีใหม่ๆในการนำเสนอ ในยุคแรกๆนั้นมีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ถือได้ว่าใช้กลวิธีแปลกใหม่ในการเล่าเรื่องได้อย่างน่าสนใจ นั้นคือ The Great Train Robbery (1903) โดยผู้กำกับที่ชื่อว่า Edwin S. Porter ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์เล่าเรื่องราว แต่ไม่ใช่หนังเล่าเรื่องเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลก เนื้อหาของเรื่องนี้คือ มีโจร 4 คนดักปล้นรถไฟและยิงผู้โดยสารตายไปคนหนึ่ง แต่แล้วในที่สุดพวกโจรก็ถูกยิงตายเมื่อเหล่านายอำเภอตามไปจับไว้ได้ทัน

The Great Train Robbery (1903) by Edwin S. Porter
ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เทคนิคการผลิตที่โดดเด่นมาก คือ การตัดสลับภาพไปมาของเหตุการณ์ อีกทั้งยังเล่าเรื่องได้น่าสนใจ ถือได้ว่าเป็นหนังเล่าเรื่องราวที่เหตุการณ์ของเรื่องดำนเนิไปตามความสัมพันธ์ของเวลา สถานที่ และตามหลักเหตุผล ซึ่งนี่คือวิถีทางแบบ Classical Cinema

ภาพยนตร์แบบ Calssical Cinema เป็นรูปแบบภาพยนตร์ที่เราเห็นกันอยู่มากที่สุดในทุกวันนี้ เป็นภาพยนตร์ที่สร้างมาเพื่อความบันเทิงเป็นเหตุผลหลักและสาระคือสิ่งที่ซ่อนอยู่ รูปแบบของภาพยนตร์ในประเภทนี้จะต้องมีการเร้าอารมณ์ สร้างให้คนดูมีอารมณ์ร่วมกับสิ่งที่ภาพยนตร์นำเสนอและพาคนดูเข้าไปสู่แก่นของเรื่องได้อย่างมีพลังโดยผ่านการเล่าเรื่องที่มีรูปแบบและโครงสร้างชัดเจน

Paranormal activity

อย่างที่บอกไปแล้วว่าภาพยนตร์ทุกเรื่องที่เราได้ดูกันมักจะอยู่ในกลุ่มนี้ แต่อาจจะมีการหยิบยืมวิธีการของภาพยนตร์รูปแบบอื่นๆไปร่วมใช้บ้าง เช่น การนำรูปแบบ Realism เข้าไปใช้ เราเลยไ้ด้หนังกลุ่มเรียลลิตี้ฟิล์มมาแบบ Blairwitch project (1999) หรือ Clover field (2008) หรือ Paranormal activity ที่จับเอาแนวทาง Realisim มารับใช้การเล่าเรื่องอย่างได้ผล

หรือการใช้รูปแบบ Formalism ก็มีมากมาย อย่างเช่น What dream may come (1998) หรือ The cell (2000) และ The fall (2006) ซึ่งเป็นที่ฮือฮามากกันอยู่ช่วงหนึ่ง

The fall (2006) by Tarsem Singh
หรืออาจะใช้รูปแบบของภาพยนตร์ทั้ง Realism และ Formalism ผสมปนเปไปตลอดทั้งเรื่องเพื่อใช้ในการเล่าเรื่องอย่างภาพยนตร์ระดับตำนานเรื่อง Citizen Kane (1941) ก็เป็นได้

Citizen Kane (1941) by Orson Welles

แต่ไม่ว่าจะหยิบยืมรูปแบบของการเล่าเรื่องแบบไหนก็ตาม ที่เห็นได้ชัดคือ ภาพยนตร์ในรูปแบบนี้ไม่ว่าจะหยิบยืมรูปแบบอื่นๆมาใช้ มันก็จะอยู่ในรูปแบบของการเล่าเรื่องแบบเร้าอารมณ์ มีตัวละครที่จับต้องได้ มีเส้นเรื่อง มีการพัฒนาเรื่องและคลี่คลายตามรูปแบบของ Classical cinema อยู่ดี

Animagus
...................................................................................................................................................................
อ้างอิง
  • ประวิทย์ แต่งอังกษร. มาทำหนังกันเถอะ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Bioscope. พิมพ์ครั้งที่ 3, 2556
  • ........... . เอกสารการสอนชุดวิชา ทฤษฎีและการวิจารณ์ภาพยนตร์เบื้องต้น มหาวิทยาลัยสุโขทัยรรมาธิราช. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.พิมพ์ครั้งที่ 1, 2548
  • http://www.thaidfilm.com/simple/?t12745.html
  • http://korakot-jairak.com/images/ptt/exper_video_ptt/week4.pdf
  • http://www.scribd.com/doc/14123261/3Motion-Pictures

วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

FM101 Introduction to Film : Film Genre 3 Formalism พลังแห่งการบิดเบือน

Film Genre 3 Formalism พลังแห่งการบิดเบือน

The Scream by Edvard Munch (1893)

ในมุมหนึ่งของห้วงเวลาในประวัติศาสตร์ มีนักมายากลชาวฝรั่งเศษคนหนึ่งที่ชื่อ Georges Méliès (จอร์จส์ เมลิเอส์) ได้สร้างหนังแนวแฟนตาซีขึ้น เรื่องหนึ่งที่โด่งดังเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดก็คือ A trip to the Moon (1902) ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องรวมตัวกันสร้างจรวจเพื่อขึ้นไปบนดวงจันทร์ กลวิธีในการนำเสนอของเขาคือ การผสมผสานการเล่าเรื่องที่เพ้อฝันเข้ากับการถ่ายภาพแบบที่เรียกว่า trick photography เช่น เทคนิคการทำให้ตัวละครหรือสิ่งของหายไปจากจอภาพด้วยการหยุดเดินกล้องหรือเทคนิคการซ้อนภาพ รวมถึงยังมีการจัดองค์ประกอบภาพอีกด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเขาเป็นผู้ให้กำเนิดภาพยนตร์ประเภทรูปแบบนิยม (Formalism) นั่นเอง

A trip to the Moon (1902) by Georges Méliès
ภาพยนตร์แนวรูปแบบนิยม หรือ Formalism มักจะให้ความสำคัญกับรูปแบบ (Form) มากกว่าเนื้อหา (Content) เน้นแต่ว่าจะนำเสนอความคิดและอารมณ์ออกมาอย่างไร นั่นคือมันเน้นไปในทางเทคนิคโดยการสร้างสรรค์จัดแจงของผู้สร้างภาพยนตร์ให้เป็นไปตามการตีความและทักษะของตน

แสงศตวรรษ (2006) by อภิชาติพงศ์ วีรเศรษฐกุล
กล่าวอย่างง่ายๆคือ คนทำหนังกลุ่มฟอร์มอลิสต์มักนำเอาความเป็นจริงมาปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และบิดเบือนโดยเจตนา เพื่อแสดงทัศนะหรือความเป็นจริงในมุมองของตนเอง กล้องของพวกฟอร์มอลิสต์นี้จึงมักถูกใช้เป็นเครื่องแสดงความคิดเห็นตลอดจนวิพากษ์วิจารณ์ตัวเนื้อหา หรืออีกนัยหนึ่งเพื่อแสดงถึงแก่นแท้หรือสาระสำคัญมากกว่าการแสดงลักษณะทางกายภาพของมัน ดังนั้นจึงเป็นที่แน่นอนว่า หนังฟอร์มอลิสต์เน้นการปรุงแต่ง ตลอดจนการจัดการกับความเป็นจริง และคุณค่าในทางศิลปะของหนังก็อยู่ที่การปรุงแต่งและปรับเปลี่ยนนี่เอง ภาพยนตร์ในรูปแบบนี้จึงมีลักษณะที่ต้องตีความรูปแบบที่ผู้กำกับตั้งใจนำเสนอ เพื่อวิเคาระห์ออกมาเป็นความหมายและอารมณ์อีกชั้นไม่ต่างจากงานศิลปะที่มีความซับซ้อน ซึ่งปัจจุบันงานประเภทนี้ก็แปรสภาพมาสู่งานในแนวงานโมชั่นกราฟฟิคและแผ่ขยายไปในงานเอ็มวี ส่วนในทางภาพยนตร์นั้นงานประเภทนี้จะอยู่ในกลุ่มของงานศิลปะที่หลายครั้งน่าชื่นชมแต่เสียงตอบรับของคนดูในวงกว้างมักจะเป็นไปในแง่ลบ เพราะว่างานลักษณะนี้จำเป็นที่ต้องการให้คนที่เสพมีพื้นฐานทางด้านศิลปะอยู่บ้าง


กล่าวเพียงเท่านี้ ผู้อ่านคงยังไม่เข้าใจถึงแนวทางหรือรูปแบบการนำเสนอของภาพยนตร์ Formalism ดังนั้นผู้เขียนของยกตัวอย่างภาพยนตร์บางเรื่องที่มีรูปแบบในการนำเสนอไปในทาง Formalism ดังต่อไปนี้


ภาพยนตร์เรื่อง The Cabinet of Dr. Caligari (1920) by Robert Wiene



ภาพยนตร์เรื่อง The Cabinet of Dr. Caligari (1920) เป็นเรื่องของชายที่ชื่อฟรานซิสและเขาได้เล่าให้ชายอีกคนฟัง เกี่ยวกับบุคคลแปลกประหลาดที่เขาเคยพบเมื่อนานมาแล้ว ณ โฮลเทนวอลล์ เป็นเมืองเชิงเขาในประเทศเยอรมนี 

ความเป็น Formalism ของภาพยนตร์เรื่องนี้พบได้ทั้งเรื่องเลยทีเดียว หรืออาจะกล่าวได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์แนว Formalism อย่างเต็มตัว เพราะเน้นการนำเสนอด้วยรูปแบบ (form) อย่างมาก ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ขาวดำ หนังมีการใช้สีขาวและสีดำตัดกันอย่างเห็นได้ชัด เช่น ใบหน้าของตัวละครถูกตกแต่งให้ดูขาวจัดเกินความเป็นจริง ตัดกับสีดำของผม คิ้ว ขอบตา และริมฝีปาก ให้แสงและเงาแก่ฉากโดยการวาดแสงและเงาสร้างความชัดลึกให้เห็นภาพทางด้านหลังเป็นถนน กำแพง อาคารบ้านเรือน ส่วนที่เป็นท้องฟ้าก็ใช้สีขาวจัด เส้นที่วาดด้วยด้วยสีดำจะหนาหนักและวาดส่วนสัดของต่างๆ บิดผันไปจากความจริง เช่น ประตูและหน้าต่างมีรูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมู เป็นต้น บางสิ่งก็ยังแสดงออกเป็นสัญลักษณ์ เช่น ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนั่งอยู่บนเก้าอี้ตัวสูงกว่าปกติ เวลาราษฎรมาพบก็ต้องกระโดดลงมาหา บรรยากาศโดยทั่วไปดูหน้ากลัวด้วยลักษณะการวาดฉากและเนื้อหาของเรื่องที่เกี่ยวกับการฆาตกรรมนั่นเอง

เรื่องราวและวิธีการนำเสนอของ The Cabinet of Dr. Caligari (1920) มุ่งวิพากษ์ความเลวร้ายของการปกครองของเยอรมนีในสมัยนั้น ซึ่งนำพาประเทศเข้าสู่สงคราม ฉากหลังอันบิดเบี้ยวสื่อถึงภาวะผิดเพี้ยนที่สังคมต้องเผชิญ ส่วนตัวละครอย่าง ดร.คาลิการี่ ก็คือตัวอย่างของชนชั้นปกครองที่สร้างเรื่องเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นเพราะความเห็นแก่ตัว




Animagus
...................................................................................................................................................................
อ้างอิง
  • ประวิทย์ แต่งอังกษร. มาทำหนังกันเถอะ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Bioscope. พิมพ์ครั้งที่ 3, 2556
  • ........... . เอกสารการสอนชุดวิชา ทฤษฎีและการวิจารณ์ภาพยนตร์เบื้องต้น มหาวิทยาลัยสุโขทัยรรมาธิราช. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.พิมพ์ครั้งที่ 1, 2548
  • http://www.filmzick.com/blogs/time-machine-dr-caligari/
  • http://en.wikipedia.org/wiki/Expressionism

วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2556

FM104 Arts of Storytelling & Screenwriting : สร้าง "ไฟ" ในการเล่าเรื่อง

สร้าง "ไฟ" ในการเล่าเรื่อง


เราเคยรู้สึกว่าตื่นขึ้นมาท่ามกลางเรื่องราวมากมายมั้ย? ไม่ว่าจะเป็น สเตตัสของเพื่อนบนเฟสบุ๊ค,อ่านข่าวหนังสือพิมพ์,เสียงที่ดังอยู่รอบตัว,ข่าวสารต่างๆมากมายบนโทรทัศน์และอินเตอร์เน็ต ถ้าคุณเริ่มรู้สึกแล้วละก็แสดงว่า คุณก็สามารถเป็นนักเล่าเรื่องได้เหมือนกัน

ถ้าเรากำลังจะเริ่มเป็นนักเล่าเรื่องแล้วละก็ ส่ิงแรกที่คุณจะต้องมองหาคือ "เรื่องที่ดี" เพราะไม่ใช่ว่าเรื่องทุกเรื่องบนโลกใบนี้เหมาะที่จะเก็บมาเล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกเรื่องมาเขียน ต้องคิดกันให้หนักว่าเรื่องนั้นๆสำคัญหรือน่าสนใจพอที่จะเขียนถึงหรือไม่?

แล้วเราจะมองหาเรื่องที่ดีนั้นได้จากที่ไหนหละ? ผมจะบอกคุณว่า "ผมไม่รู้!" เพราะว่าทุกวันนี้เราอยู่ในโลกของข้อมูลข่าวสาร เรื่องมากมายหลั่งไหลกันทั่วไปหมด ทางที่คุณจะ "หาเรื่อง" ได้ดีที่สุดคือ คุณต้องไปเจอมันยังไงหละ แต่ไม่ได้หมายความว่า ถ้าคุณจะต้องเขียนเรื่องชีวิตชายคนหนึ่งหลังจากที่เขาถูกฉลามกัดจนขาขาด แล้วคุณจะต้องไปถูกฉลามกัดด้วย ในโลกใบนี้มีสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งที่สร้างมาเพื่อย่อระยะห่างระหว่างความจริงกับประสบการณ์นั่นคือ "หนังสือ"

กว่า 3 ใน 4 ของคนที่เป็นนักเขียน ผมบอกได้เลยว่าเขาต้องเป็นนักอ่านด้วย! หนังสือเป็นแหล่งวัตุดิบชั้นดีในการหาเรื่องของคุณ แล้วมันยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คุณฝึกภาษาอีกด้วย เพราะคนที่เริ่มจะเขียนมักประสบปัญหาที่ว่า "จะเขียนอะไร" "เขียนยังไง" ผมว่า หนังสือ ให้คำตอบคุณได้ทั้งหมด สำหรับคนที่จะเป็นนักเขียนหรือนักเล่าเรื่องแล้วละก็คุณจำเป็นที่จะต้องอ่าน อ่านทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า เพื่อที่คุณจะได้มีคลังข้อมูลหรือแหล่งวัตถุดิบในการเล่าเรื่อง แต่ก็อย่าจมอยู่กับหนังสือมากเกินไปหละ เพราะโลกใบนี้ยังมีอย่างอื่นที่จะช่วยคุณได้อีก

ผมปฎิเสธไม่ได้ว่าคนที่เล่าเรื่องเก่งนั้นต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่างๆอย่างมาก คุณจะต้องหูตาเป็นสัปปะรด ใช้เวลา 24 ชั่วโมงในการจัดเก็บข้อมูลตลอดเวลา ทั้งเรื่องของตัวเองและเรื่องของคนอื่น ดังนั้นสื่ออื่นๆนอกจากหนังสือก็เป็นเครื่องทุ่นแรงในการรับรู้เรื่องราวในโลกได้ เช่น ขึ้นรถฟังวิทยุ ลงรถเจอหนังสือพิมพ์ เดินเข้าบ้านเจอโทรทัศน์ นั่งโต๊ะทำงานเจอคอมพิวเตอร์เปิดอินเตอร์เน็ต เห็นมั้ยละว่าแค่นี้คุณก็ "หูตาเป็นสัปปะรด" ได้แล้ว แต่เพียงเท่านี้ยังไม่พอเพราะสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ "ประสบการณ์ตรง"


น้ำท่วมกรุงเทพฯ,ไฟใหม้,การแย่งชิงกันผ่าไฟแดงกลางท้องถนน, ล้วนนำมาเป็นวัตถุดิบในการสร้างเรื่องราวของคุณได้ การออกไปผจญโลกจึงเป็นส่วนหนึ่งของนักเล่าเรื่อง เคยมีคนให้ข้อสังเกตไว้ว่า "คนเขียนบทหรือเขียนหนังสือเก่งๆส่วนใหญ่มักจะแก่ อายุเยอะ เป็นคุณป้าคุณยาย" ผมพยายามจะหาข้อคัดค้านข้อสังเกตนี้ แต่ผมไม่สามารถทำได้จริงๆ เนื่องจากเหตุผลที่ว่า คุณป้าคุณยายเหล่านั้นท่านผ่านโลกมาเยอะ ดังนั้นท่านจึงมีวัตถุดิบที่จะเล่าเยอะ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของนักเขียนบทรุ่นเก่า แต่ข้อได้เปรียบของนักเขียนรุ่นใหม่ก็คือ มีเรื่องที่สดใหม่และกลวิธีในการเล่าที่ทันสมัยกว่า ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องหาประสบการณ์ต่างๆในชีวิตมาเป็นวัตถุดิบในการเล่านั่นเอง

นอกจากนี้ "ความฝัน" ยังเป็นวัตถุดิบอย่างหนึ่งได้อย่างดี คนทำหนังส่วนหนึ่งนำเรื่องราวมาจากความ
ฝันของตนเอง แล้วนำมาเขียนใส่สีตีใข่ให้น่าสนใจยิ่งขึ้น จนในที่สุดมันก็ออกมาเป็นเรื่องที่ดีได้

จนถึงตอนนี้คุณคงคิดว่า "ฉันเจออะไรมาเยอะและ มีประสบการณ์ตั้งเยอะแยะ ดูสื่อ อ่านหนังสือมาตั้งมากมาย ฉันพร้อมที่จะเขียนบทแล้ว!" หยุดไว้ก่อนครับ!! สิ่งที่คุณยังขาดคือ ความเข้าใจศิลปะของการเล่าเรื่อง ในอุตสหกรรมภาพยนตร์ทุกวันนี้เราขาดแคลน "นักเขียนบทที่ดี" เพราะคนรุ่นใหม่นั้นมักวิ่งเข้าหางานเขียนกันอย่างรีบร้อน ทั้งๆที่ยังไม่รู้จักมันดีพอ และสุดท้ายคุณก็จะได้เรื่องแบบเดิมๆ เล่ากันมาเป็นล้านครั้ง ดังนั้นคุณจำเป็นที่จะต้องเข้าใจ ศิลปะของการเล่าเรื่อง ก่อนที่จะเป็น คนเขียนบทที่ดี ได้

Animagus
...................................................................................................................................................................
อ้างอิง
  • จรูญพร ปรปักษ์ประลัย. คนปรุงเรื่อง. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก. 2552
  • ........... . เอกสารการสอนชุดวิชา การสร้างสรรค์และการผลิตภาพยนตร์เบื้องต้น มหาวิทยาลัยสุโขทัยรรมาธิราช. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.พิมพ์ครั้งที่ 2, 2533
  • ธิดา ผลิตผลการพิมพ์. เขียนบทหนังซัดคนดูให้อยู่หมัด. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Bioscope. พิมพ์ครั้งที่ 3, 2556
  • รักศานต์ วิวัฒน์สินอุดม. 2547. เสกฝัน ปั้นหนัง : บทภาพยนตร์. กรุงเทพฯ : บริษัทบ้านฟ้า.
  • รักศานต์ วิวัฒน์สินอุดม. 2546. การเขียนบทภาพยนตร์. กรุงเทพฯ : คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • รักศานต์ วิวัฒน์สินอุดม. 2545. นักสร้าง สร้างหนัง หนังสั้น. กรุงเทพฯ : โครงการตำรา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

FM103 Film Aesthetics : Cinematic Art Movements เวลา ศิลปะ และภาพยนตร์

Cinematic Art Movements เวลา ศิลปะ และภาพยนตร์

Vincent Van Gogh, "Starry Night"
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจนอกจากการศึกษาภาพยนตร์ในแง่ของวิวัฒนาการของเทคโนโลยีแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลงในงานภาพยนตร์อย่างมากในแง่ของสุนทรียศาสตร์ นั่นคือ "ศิลปะ" งานศิลปะที่มีบทบาทและมีอิทธิพลต่องานภาพยนตร์มากที่สุดก็คือ ทัศนศิลป์ หรือที่เรียกว่า Visual Art ซึ่งเกี่ยวกับงานด้านภาพนั่นเอง ดังนั้นกระแสศิลปะในยุคต่างๆจึงส่งผลต่องานภาพยนตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กระแสศิลปะต่างๆนั้นมีอยู่มากมาย หากเราได้ศึกษาถึงประวัติศาสตร์ศิลปะแล้วละก็ จะพบว่าศิลปะในรูปแบบต่างๆนั้นมีผลมาจากความอยากหรือความอัดอั้นที่จะแสดงออกถึงอารมณ์ ความรู้สึก หรือแม้แต่กระทั่งการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพสังคมในยุคนั้นๆ ดังนั้นการศึกษาถึงกระแสศิลปะ จึงจำเป็นที่จะต้องย้อนกับไปศึกษาถึงสภาพสังคมและเหตุการณ์สำคัญๆในยุคนั้นๆอีกด้วย

Jean-François Millet, The Gleaners, 1857
กระแสศิลปะหลักๆที่มีผลต่อสุนทรียศาสตร์ในภาพยนตร์อย่างเห็นได้ชัดกระแสแรกๆได้แก่ ศิลปะแนวสัจนิยม (Realism) เมื่อค.ศ. 1840 โดยเริ่มต้นขึ้นในประเทศฝรั่งเศส โดยเน้นไปที่การสังเกตธรรมขาติการเขียนความจริงที่เกิดขึ้น และการวิพากวิจารณ์เรื่องการเมืองอย่างตรงไปตรงมา เนื่องด้วยในช่วงเวลานี้ยุโรปได้ตกอยู่ในสภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจและสังคม ชนชั้นกรรมาชีพก็เพิ่มมากขึ้น ศิลปินจึงสะท้อนภาพความลำบากของชนชั้นเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม ศิลปินที่มีชื่อเสียงได้แก่ มิเลท์ (Jean-Francisco Millet) , กูร์เบท์ (Gustave Courbet)

Camille Pissarro, Boulevard Montmartre,1897
จากการที่งานศิลปะแบบสัจนิยมได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ลามไปเหมือนไฟลามทุ่ง จนกลายเป็นแฟชั่นที่นิยมกันทั่วไปจนดูเฟ้อ ในขณะที่คนกำลังเริ่มเบื่อหน่าย พลันเกิดศิลปะแนวใหม่ขึ้นมา นั่นคือ ศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ (Impressionism) หรือลัทธิประทับใจ ก่อตัวที่ปารีสในช่วงค.ศ. 1860 และดำเนินต่อไปจนถึงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นศิลปะที่เขียนภาพทิวทัศน์ได้อย่างสมจริงสมจังที่สุด กล่าวคือ สามารถสะท้อนบรรยากาศ เวลา ความเคลื่อนไหวของผิวน้ำ อากาศ ออกมาได้เป็นอย่างดี แต่เทคนิคในการเขียนนั้นหยาบกระด้าง โชว์ฝีแปรงให้เห็นชัด ๆ โดยไม่มีการเกลี่ย ต่างจากการเขียนรูปในแบบเดิม ๆ อย่างสิ้นเชิง จนหลาย ๆ คนปรับตัวรับไม่ทัน ศิลปินจะถือธรรมชาติเป็นใหญ่ ขจัดความฝัน จินตนาการหรืออารมณ์ส่วนตัวออกไป ยึดหลักทฤษฎีสี เคารพสีแสงที่อยู่ต่อหน้า พยายามจับแสงสีในอากาศให้ได้สภาพของกาลเวลา มุ่งที่ความประทับใจในฉับพลัน ศิลปินที่มีชื่อเสียงได้แก่ โรแด็ง (Auguste Rodin) , ปิซาโร (Camille Pissarro) , เรอนัวร์ (Auguste Renoir) เป็นต้น

The Scream by Edvard Munch (1893)
นอกจากนี้ยังมีศิลปะในยุคใหม่ๆที่เกิดขึ้น ได้แก่ ศิลปะแบบเอ็กซเพรสชั่นนิสม์ (Expressionism) เริ่มต้นโดยกลุ่มศิลปินในเยอรมัน ที่สนใจในเรื่องการใช้สีและการแสดงออกทางอารมณ์ ซึ่งเป็นสไตล์ที่ได้รับความนิยมค่อนข้างยาวจนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ศิลปะเอ็กซเพรสชั่นนิสน์ เน้นในเรื่องของการแสดงออกถึงอารมณ์ภายในอันเร่าร้อนรุนแรง การใช้สีและการตัดเส้นรอบนอก เพื่อให้รูปทรงดูเด่นชัดและแข็งกร้าว พวกเขาสะท้อนแนวคิดที่เกี่ยวกับสังคม การเมือง แสดงความสกปรก ความหลอกลวง ความเลวร้ายของสังคม ศิลปินต่างเสแสร้งและปิดบังโลกแห่งความเป็นจริง คำนึงถึงความงามแต่อย่างเดียว ทำให้มันดูสูงสง่า เป็นของเข้าใจยาก ศิลปินไม่ได้ยึดแนวทางดั้งเดิม เรียกว่า พวกเขามีความคิดเป็นปฏิปักษ์ต่อความงามทางศิลปะก็ว่าได้ แล้วหันมาเสนองานที่กล้าเผชิญหน้าตรง ๆ ระหว่างโลกและมนุษย์ หลักสุนทรียภาพของพวกเขาอยู่ที่การแสดงออกอย่างรุนแรงเกินความจริง มีการบิดผันรูปทรงต่าง ๆ ให้ดูหมุนเวียน มีการเคลื่อนไหว แสดงเส้นอย่างเด่นชัด ชอบใช้สีดำ (ต่างจากอิมเพรสชั่นนิสม์ที่ไม่ใช้สีดำ เพราะถือว่าสีดำไม่มีอยู่ในธรรมชาติของแสง) และใช้สีที่ตัดกันอย่างรุนแรง ชอบในรูปทรงง่าย ๆ แต่สามารถสร้างอารมณ์อย่างถึงขีดสุด

กระแสศิลปะอีกชนิดหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อภาพยนตร์อย่างมาก คือ ศิลปะแบบเซอร์เรียลิสต์ (Surrealism) หรือลัทธิเหมือนจริง ศิลปะแนวนี้ถ่ายทอดเรื่องราวเหนือธรรมชาติ ถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในความฝันออกมา ว่ากันว่า ความฝันนั้นเป็นสิ่งที่จริงแท้เสียยิ่งกว่าความจริง เป็นสุดยอดของความเป็นจริง

ศิลปินได้รับอิทธิพลตามทฤษฎีของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ที่ว่า มนุษย์ทุกคนอยู่ภายใต้อิทธิพลของจิตไร้สำนึก ซึ่งเราฝังความอยากอันมิได้ขัดเกลาเอาไว้ จนเกิดทำให้รู้สึกว่าความป่าเถื่อนยังมิได้หายไปจากมนุษย์ หากแต่หลบอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ

งานเซอร์เรียลิสม์มีความสำคัญอยู่ที่ การแสดงออกของจิตใต้สำนึกอย่างอิสระปราศจากการควบคุมของเหตุผล มีความฝันและอารมณ์ จินตนาการ ค่อนข้างโน้มเอียงไปในทางกามวิสัย หลักการของเซอร์เรียลิสม์ คือ จินตนาการเป็นส่วนสำคัญของการแสดงออก จินตนาการ คือ จิตไร้สำนึก และจิตไร้สำนึกเป็นภาวะของความฝัน ที่มีขบวนการต่อเนื่องกันซึ่งนำไปสู่การสร้างสรรค์งานศิลปะได้ สิ่งที่เราเห็นจากโลกภายนอกขณะตื่น เป็นเพียงปรากฏการทางการแทรกแซง
Salvador Dalí, The Persistence of Memory (1931)
กระแสศิลปะที่กล่าวมานี้เป็นแค่บางส่วนเท่านั้น จริงๆแล้วยังมีกระแสอื่นๆอีกมากมาย เพียงแต่กระแสศิลปะที่กล่าวมานี้เป็นกระแสที่มีอิทธิพลอย่างมากในแง่ของสุนทรียะในงานภาพยนตร์ โดยกระแสต่างๆนี้ เข้าไปมีอิทธิพลต่อภาพยนตร์ในช่วงเวลาต่างๆ โดยแบ่งกระแสของศิลปะในงานภาพยนตร์อย่างกว้างๆได้ ดังนี้
  • Classical Hollywood ( 1908 - 1927 )
  • French Impressionism ( 1918 - 1929 )
  • Surrealism (1924 - 1929 )
  • German Expressionism ( 1924 - 1926 )
  • Soviet Montage ( 1924 -1930 )
  • Italian Neo - realism ( 1924 - 1930 )
  • French New Wave ( 1959 - 1964 )
ซึ่งกระแสภาพยนตร์เหล่านี้เราจะได้ศึกษากันต่อไป...

Animagus
...................................................................................................................................................................
อ้างอิง
  • เอกสารประกอบรายวิชาคอมพิวเตอร์กราฟิก โดยอ.สมิทธ์ิ บุญชุติมา (2552) 
  • จารุพรรณ ทรัพทรัพย์ปรุง. ประวัติศาสตร์ศิลป์ตะวันตก. กรุงเทพมหานคร : คณะศิลปกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, 2548
  • จีรพันธ์ สมประสงค์. ประวัติศิิลปะ. กรุงเทพมหานคร : โอเดียนสโตร์, 2533.
  • ........... . เอกสารการสอนชุดวิชา ทฤษฎีและการวิจารณ์ภาพยนตร์เบื้องต้น มหาวิทยาลัยสุโขทัยรรมาธิราช. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.พิมพ์ครั้งที่ 1, 2548
  • http://www.eduzones.com/knowledge-2-12-43185.html
  • http://unityanddivision2.wikispaces.com/Cubism+and+Expressionism+in+Art
  • http://en.wikipedia.org/wiki/Realism_(arts)
  • http://en.wikipedia.org/wiki/Impressionism
  • http://en.wikipedia.org/wiki/Expressionism
  • http://en.wikipedia.org/wiki/Surrealism

วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2556

FM101 Introduction to Film : Film Genre 2 Realism พลังแห่งความเหมือนจริง

Film Genre ตอนที่ 2 Realism พลังแห่งความเหมือนจริง

"Artists Sketching in the White Mountains" by Winslow Homer
ภาพยนตร์แนว Realism หรือมีชื่อแบบไทยๆ เก๋ๆ ว่า ภาพยนตร์แนวสัจนิยม นั้น เริ่มต้นมาจากการบันทึกภาพในเชิงสารดีของสองพี่น้อง Lumiere ผลงานที่โด่งดังมากเรื่องหนึ่งของเขาสร้างขึ้นในปี 1895 ชื่อว่า “Arriver d’un train en gare” หรือ The Arrival of a Train มันเป็นภาพยนตร์ที่สามารถชวนเชื่อให้ผู้ชมในโรงภาพยนตร์วิ่งหนีออกจากโรงกันเลยทีเดียวเพราะกลัวรถไฟจะทะลุออกมาจริงๆ


ภาพยนตร์สัจนิยมนั้นเน้นการนำเสนอความจริงเป็นหลัก โดยใช้เทคนิคของภาพยนตร์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในบางครั้งหนังเรียลิสต์พยายามถ่ายทำให้ดูหยาบกระด้าง เถื่อน หรือหลีกเลี่ยงภาพที่สวยเกินไป เนื่องจากแนวคิดที่ว่าภาพที่สวยงามเกินไปนั้นเกิดจากการปรุงแต่ง

The Story of Qiu Ju (1992) by Yimou Zhang
นักทฤษฎีคนสำคัญของลัทธิสัจนิยมชื่อ Andre Bazin ได้กล่าวไว้ว่า “ภาพยนตร์ไม่ใช่ศิลปะ (Art) แต่เป็นการสะท้อนความจริงในโลก” นั่นนำมาซึ่งเทคนิคในการถ่ายทำภาพยนตร์แนวสัจนิยมที่พยายามจะนำเสนอโลกโดยไม่ผ่านเทคนิคใดๆที่จะพยายาม “สร้าง” อารมณ์ร่วมให้เกิดขึ้นแก่คนดูแต่กลับให้เขาเกิดอารมณ์ความรู้สึกจาก “เนื้อหา” (Content) ของภาพยนตร์ที่สมจริงที่สุดผ่านการนำเสนอแบบอัตวิสัย (objective)

ส่ิงที่เราจำเป็นที่จะต้องเข้าใจก่อนคือความแตกต่างระหว่างคำว่า Realism (สัจจนิยมหรือลัทธิเหมือนจริง) กับคำว่า Reality (ความเป็นจริง) เพราะในความจริงแล้วแม้ภาพยนตร์สัจนิยมนั้นมุ่งเน้นการนำเสนอความจริงก็ตาม แต่ก็มิอาจหลีกเลี่ยงการใช้เทคนิคได้ทั้งหมด ดังนั้น ภาพยนตร์สัจนิยมจึงเป็นเพียงการถ่ายถอดความเหมือนจริงผ่านกล้อง มิใช่การถ่ายถอดความเป็นจริงทั้งหมด ฉะนั้นแล้ว Reality หรือความเป็นจริง จึงเป็นเพียงแค่วัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผลงาน Realism เท่านั้น

ดังนั้นแล้วภาพยนตร์ Realism  จึงมักจะกล่าวถึงปัญหาทางสังคมในด้านใดด้านหนึ่ง มันทำหน้าที่เหมือนกระจกสะท้อนความเป็นไปในโลกของความเป็นจริงอย่างตรงไปตรงมา แต่ด้วยความที่หนังเรียลิสต์มีการปรุงแต่งด้วยเทคนิคแต่น้อย ผู้ชมจึงมักไม่สังเกตเห็นทั้งสไตล์หรือรูปแบบการนำเสนอ ตลอดจนตัวตนของผู้สร้างสรรค์ผลงานในโลกของเรียลิสต์นั้น คนทำหนังจะให้ความสำคัญกับเนื้อหา (Content) มากกว่ารูปแบบการนำเสนอ (Form) ดังนั้นบทบาทของกล้องก็จะถูกใช้แค่ทำหน้าที่ในการบันทึกภาพความเป็นจริงเท่านั้น โดยไม่ล่วงเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นในทางใดทางหนึ่ง นั่นหมายความว่า ผู้ชมถูกกำหนดให้เฝ้ามองสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในฐานะผู้สังเกตการณ์เท่านั้น

กล่าวเพียงเท่านี้ ผู้อ่านคงยังไม่เข้าใจถึงแนวทางหรือรูปแบบการนำเสนอของภาพยนตร์ Realism ดังนั้นผู้เขียนของยกตัวอย่างภาพยนตร์บางเรื่องที่มีรูปแบบในการนำเสนอไปในทาง Realism ดังต่อไปนี้

ภาพยนตร์เรื่อง The Bicycle Thief (1948) by Vittorio De Sica.

ภาพยนตร์เรื่อง The Bicycle Thief (1948) มุ่งเน้นการนำเสนอเรื่องราวของสังคมอิตาลีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยความเรียบง่ายและตรงไปตรงมา ภาพยนตร์ได้วิพากษ์แง่มุมต่าง ๆ ในสังคม ทั้งความเฉยเมยของตำรวจ ความเข้มงวดจนไร้น้ำใจของศาสนา สภาพความเป็นอยู่ที่เหมือนไม่ใช่คนในแถบชานเมือง โดยมุ่งไปที่ปัญหาของชายคนเดียว เรื่องเริ่มต้นขึ้นมาอย่างง่ายๆ แต่กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่สะเทือนใจคนดูได้ อีกทั้งยังแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างอันโตนิโอกับลูก จากความอบอุ่นที่มีให้กันจนถึงขั้นสุดท้ายที่บรูโนได้เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ จากการตามหาจักรยานกับพ่อเพียงแค่ชั่วระยะเวลาสั้น ๆ เพราะได้เรียนรู้ถึงความจริงที่โหดร้ายของสังคม







หนังบอกจุดยืนความเป็น Realism อย่างชัดเจน ตั้งแต่การปฏิเสธนักแสดงอาชีพมาเล่น และนำกรรมกรจริงๆมาเล่นเป็นตัวเอกของเรื่อง เพื่อให้เกิดความสมจริง จนมีคำวิพากษ์วิจารณ์ว่านักแสดงกำลังเป็นตัวเองมากกว่าเป็นการแสดงเลยทีเดียว นอกจากนี้หนังใช้เทคนิคด้านภาพน้อยมาก เน้นการถ่าย Long Shot และ Medium Shot มากกว่าการใช้ภาพ Close up เพื่อให้เกิดระยะห่างระหว่างคนดูกับตัวละคร เปรียบเสมือนให้คนดูนั้นทำหน้าที่เพียงติดตามและเฝ้ามองชีวิตของตัวละครเท่านั้น มีการใช้ภาพชัดลึก (Deep Focus) เพื่อให้เห็นภาพตามความเป็นจริงอีกด้วย นอกจากนี้หนังยังหลีกเลี่ยงการตัดต่อและใช้ภาพ Long take แทนอีกด้วย จะเห็นได้ว่าถึงแม้ว่า The Bicycle Thief จะมีการใช้เทคนิคในการนำเสนออยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้โดดเด่นมากมายจนผิดสังเกต และยังทำหน้าที่ในการถ่ายถอดวิถีชีวิตของคนในสังคมอย่างตรงไปตรงมาอีกด้วย




Animagus
...................................................................................................................................................................
อ้างอิง
  • ประวิทย์ แต่งอังกษร. มาทำหนังกันเถอะ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Bioscope. พิมพ์ครั้งที่ 3, 2556
  • ........... . เอกสารการสอนชุดวิชา ทฤษฎีและการวิจารณ์ภาพยนตร์เบื้องต้น มหาวิทยาลัยสุโขทัยรรมาธิราช. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.พิมพ์ครั้งที่ 1, 2548
  • http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=yuttipung&month=03-07-2005&group=4&gblog=13
  • http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%99
  • http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=pongpongu&month=01-2008&date=08&group=2&gblog=7
  • http://msnoel.com/Realism_Naturalism/Realism_Naturalism.html
  • http://www.youtube.com/watch?v=v6i3uccnZhQ
  • http://www.youtube.com/watch?v=hjsl_Co36mk

วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2556

FM102 Film History : ยุคบุกเบิก 1 ประดิษฐกรรมมหัศจรรย์

ยุคบุกเบิก (ค.ศ 1815 - 1895) ตอนที่ 1 ประดิษฐกรรมมหัศจรรย์

เครื่อง Magic Lantern
การศึกษาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์นั้นจำเป็นอย่างมากที่จะต้องศึกษาในเรื่องของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพราะเรามิอาจปฏิเสธได้ว่าเทคโนโลยีมีส่วนในการขับเคลื่อนอุตสหกรรมภาพยนตร์ และความก้าวกน้าทางเทคโนโลยีนี้ก็มีผลมาจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งในเวลาต่อมามันทำให้หน้าตาของโลกที่เรารู้จักเปลี่ยนไปผ่านการ "ปฏิวัติอุตสาหกรรม" นั้นเอง

ความพยามให้การสร้างภาพเคลื่อนไหวของมนุษย์นั้นเกิดขึ้นจากการศึกษาหลักการภาพติดตา (Persistence of Vision) ซึ่งถูกศึกษา ทดลอง และสาธิตโดยนักวิทยาศาสตร์มากมาย ซึ่งมันกลายมาเป็นหัวใจของการเกิดภาพเคลื่อนไหวหรือภาพยนตร์ในเวลาต่อมา ในที่สุดจากหลักการภาพติดตานี้ทำให้เกิดของเล่นทางวิทยาศาสตร์ขึ้นมามากมายได้แก่

Thaumatrope By Dr. John Aryton Paris
Thaumatrope (ทรอมาโทรป) โดย Dr. John Aryton Paris (บางตำราว่าถูกสร้างโดย Dr. William Henry Fitton) สิ่งประดิษฐ์นี้มีลักษณะเป็นแผ่นกลม มีภาพเขียนอยู่สองด้าน ที่นิยมกันมากคือรูปนกด้านหนึ่งอีกด้านหนึ่งเป็นกรงนก เวลาหมุนด้วยความเร็วพอเหมาะก็จะเห็นภาพเหมือนกับว่านกเข้าไปอยู่ในกรงนั่นเอง ซึ่งเกิดจากแนวคิดที่มนุษย์เราสามารถเห็นเหรียญทั้งสองด้านที่หมุนอยู่ได้พร้อมกัน ที่เรียกกันว่า มหัศจรรย์แห่งการหมุน (Wonder Turning) นั่นเอง







สิ่งประดิษฐ์อีกชิ้นหนึ่งได้แก่ Phenakistoscope (ฟิเนคิสโตสโครป) โดย Plateau มีลักษณะเป็นแผ่นกลมที่มีภาพชุดหนึ่งรวมกันอยู่ เช่น ภาพแมวกระโดด เวลาดูต้องส่องกระจกที่อยู่ด้านตรงข้ามกับแผ่นกลมจึงจะเห็นภาพเหล่านั้นเคลื่อนไหวได้

Phenakistoscope By Plateau
นอกจากนี้ยังมีสิ่งประดิษฐ์อีกชิ้นหนึ่งที่รู้จักกันอย่างมากและเป็นที่นิยมกันในยุดหนึ่งได้ Zoetrope (โซโทรป) หรือ Wheel of Life โดย George Horner ซึ่งมีลักษณะเป็นภาพชุดติดอยู่กับแกนหมุน เมื่อหมุนแกนภาพก็จะดูเหมือนเคลื่อนไหวได้
Zoetrope By George Horner
แต่การเดินทางของสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ก็ไม่อาจจะทำให้เกิดภาพยนตร์ได้ ตราบได้ที่ยังไม่มีภาพถ่าย ซึ่งถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ของภาพถ่ายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดภาพเคลื่อนไหวเราจะพบว่าบุคคลแรกที่ประยุกต์การใช้ภาพถ่ายให้เกิดภาพเคลื่อนไหวคือ Eadweard Muybridge ช่างภาพชาวอังกฤษที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานและทำอาชีพช่างถ่ายรูปอยู่ที่ซานฟรานซิสโก ในปี ค.ศ. 1872 Laland Standford ผู้ว่าการรัฐแคลลิฟอร์เนียซึ่งเป็นเจ้าของคอกม้าและนักแข่งม้าได้ท้าพนันกับคู่แข่งของเขาเป็นเงิน 25,000 ดอลล่าร์ว่า ในการควบวิ่งของม้านั้น จะมีเวลาหนึ่งที่ขาทั้งสี่ข้างของม้าลอยขึ้นเหนือพื้นดิน โดยว่าจ้างให้ Muybridge หาทางพิสูจน์ข้อเท็จจริง

Eadweard Maybridge
เขาหาทางพิสูจน์อยู่นานมาก จนได้รับการช่วยหลือจากเพื่อนของเขาที่เป็นวิศวกรชื่อ John D. Isaacs จึงสามารถพิสูจน์ได้ โดยเขาตั้งกล้อง 12 ตัวเรียงไว้ข้างสนาม แล้วขึงเชือกเล็กๆขวางทางวิ่งไว้ 12 จุด ซึ่งแต่ละจุดจะมีเชือกเส้นเล็กๆนั้นผูกติดกับไกชัตเตอร์ เมื่อม้าวิ่งโดนเชือก ไกของกล้องก็จะถูกเหนี่ยวและเกิดการถ่ายภาพขึ้น เมื่อ Muybridge ถ่ายภาพได้แล้ว ก็นำภาพที่ได้มาติดวงล้อหมุน แล้วฉแายด้วยเครื่อง Magic Lantern ทำให้เห็นการเคลื่อนไหวของม้าต่อเนื่องเหมือนจริง หลังจากนั้นเขาก็ได้ทดสอบซ้ำอีกครั้งกับกล้อง 24 ตัว จนในที่สุดเขาก็สามารถพิสูจน์ได้ในที่สุด

หลังจากนั้น Muybridge ก็ได้ถ่ายและฉายภาพเคลื่อนไหวแบบเดียวกันนี้เป็นอาชีพ และแถบภาพหรือภาพชุดในของเล่นภาพติดตาทั้งหลายก็ได้เปลี่ยนมาเป็นภาพถ่ายแทนภาพเขียน แต่การถ่ายภาพของเขาก็ยังไม่ถือว่าเป็นภาพยนตร์แต่อย่างใด เนื่องจากว่ามันถ่ายทำด้วยกล้องภาพนิ่งและต้องใช้กล้องเป็นจำนวนมากตั้งแต่ 12 ตัว หรือ 20 หรือบางทีมากถึง 40 ตัวเลยทีเดียว มันจึงถือว่าเป็นการจับภาพหรือถ่ายภาพของสิ่งที่เคลื่อนไหวเร็วๆให้หยุด (Stop Motion) มากกว่าที่จะสร้างภาพเคลื่อนไหวให้ปรากฏบนจอ


Etienne Jules Marey
และในปี ค.ศ. 1881 สแตนฟอร์ด ได้นำภาพถ่ายชุดแสดงการเคลื่อนไหวของเมบริดจ์ไปให้กับนักวิทยาศาสตร์ และกลุ่มศิลปินในยุโรปชม ที่กรุงปารีส โดยที่ Muybridge เดินทางไปด้วย และได้พบกับ Etienne Jules Marey นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศษที่สนใจศึกษาในเรื่องของภาพเคลื่อนไหว และมารีก็ได้นำเอาเทคนิดของเมบริดจ์นี้ไปพัฒนาสร้างปืนถ่ายภาพ อันเป็นการใช้กล้องตัวเดียวในการถ่ายภาพเคลื่อนไหวได้สำเร็จในปี 1882 แต่มันก็ยังไม่สามารถที่จะบันถึงภาพเคลื่อนไหวได้ยาวนานกว่า 2-3 วินาทีได้





ปืนถ่ายภาพ ของ Etienne Jules Marey
จนถึงตอนนี้เราใกล้เดินทางมาถึงจุดกำเนิดของภาพยนตร์อย่างแท้จริงแล้ว การเดินทางย้อนเวลาในโลกของภาพยนตร์นั้นเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับช่วงเวลาและเทคโนโลยีอย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้น จึงมีผู้รู้ได้กว่าไว้ว่า "พัฒนาการของภาพยนตร์ เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับพัฒนาการของศิลปะและเทคโนโลยี" เราจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาพัฒนาการของศิลปะและเทคโนโลยีไปพร้อมๆกับประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์นั่นเอง


Animagus

...................................................................................................................................................................
อ้างอิง
  • เยาวนันท์ เชฏฐรัตน์. ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา กรมการศาสนา
  • ........... . เอกสารการสอนชุดวิชา การสร้างสรรค์และการผลิตภาพยนตร์เบื้องต้น มหาวิทยาลัยสุโขทัยรรมาธิราช. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.พิมพ์ครั้งที่ 2, 2533
  • James Monaco. (2009). How to read a Film. New York : Oxford University Press,Inc.
  • http://filmv.wordpress.com/unit-1/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%94/
  • http://www.procrastin.fr/blog/?2008/06/22/137-tir-photographique=
  • http://www.eadweardmuybridge.co.uk/muybridge_image_and_context/introducing_muybridge/

วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556

FM103 Film Aesthetics : Film Form 2

Film Form.... ตอนที่ 2 : Principle of Film Form

Battleship Potemkin (1925)
เรารู้จัก Film Form ไปแล้วว่า มันคือ แนวทางในการศึกษาภาพยนตร์อย่างเป็นระบบ โดยศึกษาองค์ประกอบต่างๆของภาพยนตร์ที่ทำงานอย่างสัมพันธ์กัน รวมไปถึงสิ่งที่ผู้ชมจะได้รับอีกด้วย ดังนั้นสิ่งที่เราจะต้องเข้าใจในเรื่องต่อไปคือ "Film Form มันทำงานอย่างไรหละในภาพยนตร์?" นั่นคือการศึกษา Principle of Film Form หรือหลักการของ Film Form นั่นเอง

หลักการของ Film Form นี้พูดถึงภาพรวมของสิ่งต่างๆที่ผู้ชมสามารถรับรู้หรือสังเกตเห็นได้จากในภาพยนตร์ทั่วๆไป ถึงแม้ว่าภาพยนตร์แต่ละเรื่องจะมีเอกลักษณ์ในการนำเสนอแตกต่างกันไป แต่ภาพยนตร์เหล่านั้นล้วนอาศัยหลักการพื้นฐานของ Film Form เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารความหมาย อารมณ์หรืออะไรก็ตามที่ผู้สร้างต้องการให้ผู้ชมได้รับ ซึ่งเราสามารถจำแนกให้เห็นได้ว่ามีหลักการทั่วไป 5 ประการที่มีบทบาทต่อการทำงานของรูปแบบของภาพยนตร์ ได้แก่
  • หน้าที่ (Function)
  • ความคล้ายคลึงและการทำซ้ำ (Similarity and Repetition)
  • ความแตกต่างและความหลากหลาย (Difference and Variation)
  • การพัฒนาเรื่อง (Development)
  • ความเป็นเอกภาพและความไม่เป็นเอกภาพ (Unity and Disunity)

หน้าที่ (Function)
     
เวลาเราดูหนังเรามักจะพบว่า หนังแต่ละเรื่องนั้นมีรูปแบบของการทำเสนอที่แตกต่างกัน เช่น การจัดแสงมืดหรือสว่าง สีของเสื้อผ้าที่แตกต่างกันของแต่ละตัวละคร เป็นต้น เราก็จะเกิดคำถามว่า "ทำไมมันต้องจัดแสงแบบนี้วะ?" หรือ "ทำไมตัวร้ายตัวนี้ต้องใส่เสื้อสีแดงตลอดเวลา ตู้เสื้อผ้าไม่มีสีอื่นเลยไง?" หรือ "ทำไมภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องใช่แต่สีขาวดำ?" คำถามทั้งหมดทั้งมวลนี้ คำตอบคือ เป็นเพราะส่วนประกอบเหล่านั้นมันทำหน้าที่อะไรบางอย่างในภาพยนตร์ ซึ่งมันจำเป็นจะต้องมีปัจจัยที่กำหนดหน้าที่ของส่วนต่างๆเหล่านั้นในหนัง ส่วนประกอบทุกส่วนจะต้องมีบทบาทหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ตัวละครทุกตัวหรือสิ่งของทุกสิ่งที่ปรากฏในภาพยนตร์จะต้องมีหน้าที่บอกอะไรบางอย่างเสมอ ตัวอย่างเช่น

Brave (2012)
แสงและสีในฉากของภาพยนตร์เรื่อง Brave (2012) ฉากนี้เป็นฉากที่เด็กสาวกำลังจะถูกนำพาให้ไปเจอกับแม่มดซึ่งทำให้เกิดเรื่องร้ายแรงตามมาในเรื่อง โทนสีของฉากนี้มืดมนลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งแตกต่างจากตอนต้นเรื่องที่สีสันสดใส บ่งบอกถึงความที่เด็กสาวมีลักษณะนิสัยสนุกร่าเริง นั่นแสดงให้เห็นว่า องค์ประกอบทางด้านแสงและสีในภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้ทำหน้าที่บอกความหมายบางอย่างในภาพยนตร์นั่นเอง



ความคล้ายคลึงและการทำซ้ำ (Similarity and Repetition)
     
เราคงเคยหนังบางเรื่องที่เราสังเกตเห็นอะไรบางอย่างที่ปรากฏออกมาอย่างซ้ำๆหรือคล้ายคลึงกันในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์ประกอบฉาก สี สถานที่ เสียง ภาพ หรือแม้แต่นิสัยบางประการของตัวละคร และตอนสุดท้ายของเรื่องมันมีผลต่อความเข้าใจหรือการตีความเนื้อเรื่องนั้นๆ ตัวอย่างเช่น

Inception (2010)
ในภาพยนตร์เรื่อง Inception (2010) ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางเข้าไปในโลกของความฝัน ซึ่งเรื่องจะเล่าสลับกันไปมาระหว่างโลกแห่งความจริงและความฝัน ซึ่งปัญหาก็คือ แล้วโลกไหนเป็นโลกแห่งความจริงและโลกไหนคือโลกแห่งความฝัน ซึ่งหนังก็ได้เฉลยหรือบอกใบ้เราด้วยอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งหรือที่เรียกว่า Totem ที่เห็นได้ตลอดทั้งเรื่อง หซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องอย่างมากหรือแม้แต่นิสัยส่วนตัวของพระเอกที่มักจะนำอดีตภรรยาเข้ามามีส่วนร่วมในความฝัน ซึ่งนั่นก็สะท้อนให้เห็นหลักการของ Film Form ข้อนี้นั่นเอง

ความคล้ายคลึงและการทำซ้ำเป็นหลักการสำคัญของรูปแบบภาพยนตร์ การดูภาพยนตร์ให้รู้เรื่องขึ้นอยู่กับความสามารถในการจดจำสิ่งที่เกี่ยวข้องคล้ายคลึงกัน โดยเราจำเป็นที่จะต้องจำตัวละครและฉากต่างๆได้ เมื่อหวนกลับมาปรากฏอีกครั้ง ในภาพยนตร์แต่ละเรื่องเราสามารถสังเกตเห็นความคล้ายคลึงและความซ้ำของทุกสิ่งได้ตลอดทั้งเรื่อง นับตั้งแต่บทสนทนา ดนตรี ไปจนถึงตำแหน่งของกล้อง พฤติกรรมของตัวละคร และการกระทำในเรื่อง ซึ่งการที่เราจำความคล้ายและความซ้ำนี้ได้จะทำให้เราเกิดความพึงพอใจในการชมภาพยนตร์เหมือนเช่นเวลาอ่านบทกวีที่มีเสียงซ้ำกันเป็นจังหวะ

เรามีคำเรียกความซ้ำของรูปแบบว่า โมทีฟ (Motif) ส่วนประกอบที่มีความซ้ำกันอยู่ในภาพยนตร์ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ สี เสียง สิ่งต่างๆ หรือแม้แต่บุคลิเฉพาะของตัวละครเราก็เรียกว่าโมทีฟ (Motif) และถ้าการจัดแสงหรือการวางตำแหน่งกล้องปรากฏขึ้นซ้ำๆกันตลอดทั้งเรื่อง เราก็เรียกมันว่าโมทีฟ (Motif) เช่นกัน

ความแตกต่างและความหลากหลาย (Difference and Variation)

คนดูมักคาดหวังให้เรื่องดำเนินไปหรือเกิดความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอแทนที่เรื่องจะอยู่กับที่ รวมทั้งยังคาดหวังที่จะเห็นความหลากหลายในองค์ประกอบต่างๆอีกด้วย เช่น ฉาก ตัวละคร อุปกรณ์ประกอบฉาก เป็นต้น ดังนั้นรูปแบบการนำเสนอในภาพยนตร์แต่ละเรื่องจำเป็นที่จะต้องให้เกิดความหลากหลายและแตกต่างกันเพื่อเป็นเอกลักษณ์และตอบสนองความต้องการของผู้ชม หากรูปแบบประกอบด้วยความซ้ำเพียงอย่างเดียว ก็เป็นรูปแบบที่น่าเบื่อได้ แต่ภาพยนตร์จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือความหลากหลายด้วยไม่มากก็น้อย คามแตกต่างจึงเป็นหลักการพื้นฐานอย่างหนึ่งของรูปแบบภาพยนตร์

ฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง Inception (2010)
แม้ว่าโมทีฟ (Motif) จะปรากฏขึ้นหลายครั้ง มันก็จะไม่เหมือนกันทุกครั้ง เช่น ในเรื่อง Inception (2010) การตื่นจากฝันของตัวละครแต่ละครั้งก็ไม่เหมือนกัน หรือเหตุการณ์ที่ทำให้ Totem ของพระเอกปรากฏในเรื่องแต่ละครั้งก็ไม่เหมือนกัน เป็นต้น

การพัฒนาเรื่อง (Development)

เรื่องราวที่ดีนั้นคือเรื่องราวที่เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ ดังนั้นการนำเสนอรูปแบบขององค์ประกอบต่างๆจำเป็นที่จะต้องสัมพันธ์กับเรื่องราวที่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปข้างหน้า โดยการพัฒนาเรื่องราวจะดำเนินไปเป็นช่วงๆ ดังภาพ 


  • การเปิดเรื่อง (Exposition)
  • การพัฒนาเรื่องราว (Rising Action)
  • จุดสูงสุดของเรื่อง (Climax)
  • การคลี่คลาย (Falling Action & Resolution)
การพัฒนาคือกระบนการที่ก้าวไปข้างหน้า จากตอนหนึ่งไปสู่อีกตอนหนึ่ง วิธีการหนึ่งในการที่จะบอกว่าภาพยนตร์มีการพัฒนาเพียงไรก็คือ การเปรียบเทียบตอนต้นเรื่องกับตอนท้ายเรื่อง โดยมองหาความคล้ายคลึงและความแตกต่างระหว่างตอนต้นกับตอนท้ายนี้จะทำให้เราเข้าใจแบบรูป (pattern) ทั้งหมดของภาพยนตร์

ความเป็นเอกภาพและความไม่เป็นเอกภาพ (Unity and Disunity)

การทำงานของ Film Form ที่ดีจำเป็นต้องอาศัยความสัมพันธ์กันระหว่างการเล่าเรื่อง (Narrative) และวิธีการเล่าเรื่อง (style) ดังนั้นในระหว่างที่เรื่องดำเนินไปการเล่าเรื่องและกลวิธีก็จะทำงานอย่างสัมพันธ์กันตลอดทั้งเรื่องทำให้เกิดความเป็นเอกภาพ หรือพูดง่ายๆคือมันเล่าเรื่องไปในทิศทางเดียวกันตลอดทั้งเรื่อง หากส่วนต่างๆที่ใส่เข้าไปในเรื่องแล้วไม่ได้ทำหน้าที่อะไร หรือใส่ไปแล้วไม่ได้ช่วยเล่าเรื่องหรือช่วยสื่อความหมายใดๆหนังเรื่องนั้นก็อาจะเรียกได้ว่า ไม่มีเอกภาพ

แต่ก็มีผู้สร้างหนังบางคนที่เลือกใช้ความไม่เป็นเอกภาพมาใช้เป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่อง เพื่อให้เกิดผลบางอย่าง และเป็นกลวิธีส่วนตัวของผู้สร้างนั่นเอง

Totem ของพระเอกในเรื่อง Inception (2010)
และทั้งหมดนี้คือหลักการในการทำงานของ Film Form เพื่อเป็นแนวทางในการใช้กลวิธีในการเล่าเรื่องได้อย่างเต็มความสามารถและเกิดผลมากที่สุด ดังนั้นเรื่องของ Film Form จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่ไม่ว่านักเรียนหนัง ผู้กำกับ คนทำงานในอุตสหรรมภาพยนตร์ หรือแม้แต่กระทั่งคนดูหนังต้องศึกษา เพื่อให้เกิดความเข้าใจภาพยนตร์อย่างถ่องแท้

Animagus
Update Thu Sep 5 2013
...................................................................................................................................................................
อ้างอิง
  • ประวิทย์ แต่งอังกษร. มาทำหนังกันเถอะ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Bioscope. พิมพ์ครั้งที่ 3, 2556
  • ........... . เอกสารการสอนชุดวิชา ทฤษฎีและการวิจารณ์ภาพยนตร์เบื้องต้น มหาวิทยาลัยสุโขทัยรรมาธิราช. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.พิมพ์ครั้งที่ 1, 2548
  • Ron Johnson & Janbone. (1978). Understanding the Film. U.S.A. : National Textbook Company
  • Jill Nelmes. (1996). An Introduction to Film Studies. London : Simultaneously published
  • Leo Braudy & Marshall Cohen. (1999). Film Theory and Criticism. New York : Oxford University Press, Inc.
  • John Hill & Pamela Church Gibson. (2000). Film Studies. New York : Oxford University Press, Inc.
  • David Bordwell & Kristin Thompson. (2012) Film Art: An Introduction. The McGraw-Hill Companies, Inc.
  • http://www.elementsofcinema.com/film_form/FILM-FORM.html
  • http://criticalmissmoviesandreviews.blogspot.com/2012/05/mass-effect-3-ending.html
  • http://www.sliceofscifi.com/2012/06/22/brave-a-slice-of-scifi-movie-review/
  • http://www.birthofgaia.com/t107p30-xeia-s-archives