Translate

วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2556

FM103 Film Aesthetics : Cinematic Art Movements เวลา ศิลปะ และภาพยนตร์

Cinematic Art Movements เวลา ศิลปะ และภาพยนตร์

Vincent Van Gogh, "Starry Night"
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจนอกจากการศึกษาภาพยนตร์ในแง่ของวิวัฒนาการของเทคโนโลยีแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลงในงานภาพยนตร์อย่างมากในแง่ของสุนทรียศาสตร์ นั่นคือ "ศิลปะ" งานศิลปะที่มีบทบาทและมีอิทธิพลต่องานภาพยนตร์มากที่สุดก็คือ ทัศนศิลป์ หรือที่เรียกว่า Visual Art ซึ่งเกี่ยวกับงานด้านภาพนั่นเอง ดังนั้นกระแสศิลปะในยุคต่างๆจึงส่งผลต่องานภาพยนตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กระแสศิลปะต่างๆนั้นมีอยู่มากมาย หากเราได้ศึกษาถึงประวัติศาสตร์ศิลปะแล้วละก็ จะพบว่าศิลปะในรูปแบบต่างๆนั้นมีผลมาจากความอยากหรือความอัดอั้นที่จะแสดงออกถึงอารมณ์ ความรู้สึก หรือแม้แต่กระทั่งการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพสังคมในยุคนั้นๆ ดังนั้นการศึกษาถึงกระแสศิลปะ จึงจำเป็นที่จะต้องย้อนกับไปศึกษาถึงสภาพสังคมและเหตุการณ์สำคัญๆในยุคนั้นๆอีกด้วย

Jean-François Millet, The Gleaners, 1857
กระแสศิลปะหลักๆที่มีผลต่อสุนทรียศาสตร์ในภาพยนตร์อย่างเห็นได้ชัดกระแสแรกๆได้แก่ ศิลปะแนวสัจนิยม (Realism) เมื่อค.ศ. 1840 โดยเริ่มต้นขึ้นในประเทศฝรั่งเศส โดยเน้นไปที่การสังเกตธรรมขาติการเขียนความจริงที่เกิดขึ้น และการวิพากวิจารณ์เรื่องการเมืองอย่างตรงไปตรงมา เนื่องด้วยในช่วงเวลานี้ยุโรปได้ตกอยู่ในสภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจและสังคม ชนชั้นกรรมาชีพก็เพิ่มมากขึ้น ศิลปินจึงสะท้อนภาพความลำบากของชนชั้นเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม ศิลปินที่มีชื่อเสียงได้แก่ มิเลท์ (Jean-Francisco Millet) , กูร์เบท์ (Gustave Courbet)

Camille Pissarro, Boulevard Montmartre,1897
จากการที่งานศิลปะแบบสัจนิยมได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ลามไปเหมือนไฟลามทุ่ง จนกลายเป็นแฟชั่นที่นิยมกันทั่วไปจนดูเฟ้อ ในขณะที่คนกำลังเริ่มเบื่อหน่าย พลันเกิดศิลปะแนวใหม่ขึ้นมา นั่นคือ ศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ (Impressionism) หรือลัทธิประทับใจ ก่อตัวที่ปารีสในช่วงค.ศ. 1860 และดำเนินต่อไปจนถึงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นศิลปะที่เขียนภาพทิวทัศน์ได้อย่างสมจริงสมจังที่สุด กล่าวคือ สามารถสะท้อนบรรยากาศ เวลา ความเคลื่อนไหวของผิวน้ำ อากาศ ออกมาได้เป็นอย่างดี แต่เทคนิคในการเขียนนั้นหยาบกระด้าง โชว์ฝีแปรงให้เห็นชัด ๆ โดยไม่มีการเกลี่ย ต่างจากการเขียนรูปในแบบเดิม ๆ อย่างสิ้นเชิง จนหลาย ๆ คนปรับตัวรับไม่ทัน ศิลปินจะถือธรรมชาติเป็นใหญ่ ขจัดความฝัน จินตนาการหรืออารมณ์ส่วนตัวออกไป ยึดหลักทฤษฎีสี เคารพสีแสงที่อยู่ต่อหน้า พยายามจับแสงสีในอากาศให้ได้สภาพของกาลเวลา มุ่งที่ความประทับใจในฉับพลัน ศิลปินที่มีชื่อเสียงได้แก่ โรแด็ง (Auguste Rodin) , ปิซาโร (Camille Pissarro) , เรอนัวร์ (Auguste Renoir) เป็นต้น

The Scream by Edvard Munch (1893)
นอกจากนี้ยังมีศิลปะในยุคใหม่ๆที่เกิดขึ้น ได้แก่ ศิลปะแบบเอ็กซเพรสชั่นนิสม์ (Expressionism) เริ่มต้นโดยกลุ่มศิลปินในเยอรมัน ที่สนใจในเรื่องการใช้สีและการแสดงออกทางอารมณ์ ซึ่งเป็นสไตล์ที่ได้รับความนิยมค่อนข้างยาวจนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ศิลปะเอ็กซเพรสชั่นนิสน์ เน้นในเรื่องของการแสดงออกถึงอารมณ์ภายในอันเร่าร้อนรุนแรง การใช้สีและการตัดเส้นรอบนอก เพื่อให้รูปทรงดูเด่นชัดและแข็งกร้าว พวกเขาสะท้อนแนวคิดที่เกี่ยวกับสังคม การเมือง แสดงความสกปรก ความหลอกลวง ความเลวร้ายของสังคม ศิลปินต่างเสแสร้งและปิดบังโลกแห่งความเป็นจริง คำนึงถึงความงามแต่อย่างเดียว ทำให้มันดูสูงสง่า เป็นของเข้าใจยาก ศิลปินไม่ได้ยึดแนวทางดั้งเดิม เรียกว่า พวกเขามีความคิดเป็นปฏิปักษ์ต่อความงามทางศิลปะก็ว่าได้ แล้วหันมาเสนองานที่กล้าเผชิญหน้าตรง ๆ ระหว่างโลกและมนุษย์ หลักสุนทรียภาพของพวกเขาอยู่ที่การแสดงออกอย่างรุนแรงเกินความจริง มีการบิดผันรูปทรงต่าง ๆ ให้ดูหมุนเวียน มีการเคลื่อนไหว แสดงเส้นอย่างเด่นชัด ชอบใช้สีดำ (ต่างจากอิมเพรสชั่นนิสม์ที่ไม่ใช้สีดำ เพราะถือว่าสีดำไม่มีอยู่ในธรรมชาติของแสง) และใช้สีที่ตัดกันอย่างรุนแรง ชอบในรูปทรงง่าย ๆ แต่สามารถสร้างอารมณ์อย่างถึงขีดสุด

กระแสศิลปะอีกชนิดหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อภาพยนตร์อย่างมาก คือ ศิลปะแบบเซอร์เรียลิสต์ (Surrealism) หรือลัทธิเหมือนจริง ศิลปะแนวนี้ถ่ายทอดเรื่องราวเหนือธรรมชาติ ถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในความฝันออกมา ว่ากันว่า ความฝันนั้นเป็นสิ่งที่จริงแท้เสียยิ่งกว่าความจริง เป็นสุดยอดของความเป็นจริง

ศิลปินได้รับอิทธิพลตามทฤษฎีของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ที่ว่า มนุษย์ทุกคนอยู่ภายใต้อิทธิพลของจิตไร้สำนึก ซึ่งเราฝังความอยากอันมิได้ขัดเกลาเอาไว้ จนเกิดทำให้รู้สึกว่าความป่าเถื่อนยังมิได้หายไปจากมนุษย์ หากแต่หลบอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ

งานเซอร์เรียลิสม์มีความสำคัญอยู่ที่ การแสดงออกของจิตใต้สำนึกอย่างอิสระปราศจากการควบคุมของเหตุผล มีความฝันและอารมณ์ จินตนาการ ค่อนข้างโน้มเอียงไปในทางกามวิสัย หลักการของเซอร์เรียลิสม์ คือ จินตนาการเป็นส่วนสำคัญของการแสดงออก จินตนาการ คือ จิตไร้สำนึก และจิตไร้สำนึกเป็นภาวะของความฝัน ที่มีขบวนการต่อเนื่องกันซึ่งนำไปสู่การสร้างสรรค์งานศิลปะได้ สิ่งที่เราเห็นจากโลกภายนอกขณะตื่น เป็นเพียงปรากฏการทางการแทรกแซง
Salvador Dalí, The Persistence of Memory (1931)
กระแสศิลปะที่กล่าวมานี้เป็นแค่บางส่วนเท่านั้น จริงๆแล้วยังมีกระแสอื่นๆอีกมากมาย เพียงแต่กระแสศิลปะที่กล่าวมานี้เป็นกระแสที่มีอิทธิพลอย่างมากในแง่ของสุนทรียะในงานภาพยนตร์ โดยกระแสต่างๆนี้ เข้าไปมีอิทธิพลต่อภาพยนตร์ในช่วงเวลาต่างๆ โดยแบ่งกระแสของศิลปะในงานภาพยนตร์อย่างกว้างๆได้ ดังนี้
  • Classical Hollywood ( 1908 - 1927 )
  • French Impressionism ( 1918 - 1929 )
  • Surrealism (1924 - 1929 )
  • German Expressionism ( 1924 - 1926 )
  • Soviet Montage ( 1924 -1930 )
  • Italian Neo - realism ( 1924 - 1930 )
  • French New Wave ( 1959 - 1964 )
ซึ่งกระแสภาพยนตร์เหล่านี้เราจะได้ศึกษากันต่อไป...

Animagus
...................................................................................................................................................................
อ้างอิง
  • เอกสารประกอบรายวิชาคอมพิวเตอร์กราฟิก โดยอ.สมิทธ์ิ บุญชุติมา (2552) 
  • จารุพรรณ ทรัพทรัพย์ปรุง. ประวัติศาสตร์ศิลป์ตะวันตก. กรุงเทพมหานคร : คณะศิลปกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, 2548
  • จีรพันธ์ สมประสงค์. ประวัติศิิลปะ. กรุงเทพมหานคร : โอเดียนสโตร์, 2533.
  • ........... . เอกสารการสอนชุดวิชา ทฤษฎีและการวิจารณ์ภาพยนตร์เบื้องต้น มหาวิทยาลัยสุโขทัยรรมาธิราช. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.พิมพ์ครั้งที่ 1, 2548
  • http://www.eduzones.com/knowledge-2-12-43185.html
  • http://unityanddivision2.wikispaces.com/Cubism+and+Expressionism+in+Art
  • http://en.wikipedia.org/wiki/Realism_(arts)
  • http://en.wikipedia.org/wiki/Impressionism
  • http://en.wikipedia.org/wiki/Expressionism
  • http://en.wikipedia.org/wiki/Surrealism

2 ความคิดเห็น:

  1. อยากศึกษาเรื่อง sovirt montage ครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอโทษที่ตอบช้านะครับ เข้ามาติดตามเรื่อยๆนะครับ ^^

      ลบ