Translate

วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2556

FM104 Arts of Storytelling & Screenwriting : สร้าง "ไฟ" ในการเล่าเรื่อง

สร้าง "ไฟ" ในการเล่าเรื่อง


เราเคยรู้สึกว่าตื่นขึ้นมาท่ามกลางเรื่องราวมากมายมั้ย? ไม่ว่าจะเป็น สเตตัสของเพื่อนบนเฟสบุ๊ค,อ่านข่าวหนังสือพิมพ์,เสียงที่ดังอยู่รอบตัว,ข่าวสารต่างๆมากมายบนโทรทัศน์และอินเตอร์เน็ต ถ้าคุณเริ่มรู้สึกแล้วละก็แสดงว่า คุณก็สามารถเป็นนักเล่าเรื่องได้เหมือนกัน

ถ้าเรากำลังจะเริ่มเป็นนักเล่าเรื่องแล้วละก็ ส่ิงแรกที่คุณจะต้องมองหาคือ "เรื่องที่ดี" เพราะไม่ใช่ว่าเรื่องทุกเรื่องบนโลกใบนี้เหมาะที่จะเก็บมาเล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกเรื่องมาเขียน ต้องคิดกันให้หนักว่าเรื่องนั้นๆสำคัญหรือน่าสนใจพอที่จะเขียนถึงหรือไม่?

แล้วเราจะมองหาเรื่องที่ดีนั้นได้จากที่ไหนหละ? ผมจะบอกคุณว่า "ผมไม่รู้!" เพราะว่าทุกวันนี้เราอยู่ในโลกของข้อมูลข่าวสาร เรื่องมากมายหลั่งไหลกันทั่วไปหมด ทางที่คุณจะ "หาเรื่อง" ได้ดีที่สุดคือ คุณต้องไปเจอมันยังไงหละ แต่ไม่ได้หมายความว่า ถ้าคุณจะต้องเขียนเรื่องชีวิตชายคนหนึ่งหลังจากที่เขาถูกฉลามกัดจนขาขาด แล้วคุณจะต้องไปถูกฉลามกัดด้วย ในโลกใบนี้มีสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งที่สร้างมาเพื่อย่อระยะห่างระหว่างความจริงกับประสบการณ์นั่นคือ "หนังสือ"

กว่า 3 ใน 4 ของคนที่เป็นนักเขียน ผมบอกได้เลยว่าเขาต้องเป็นนักอ่านด้วย! หนังสือเป็นแหล่งวัตุดิบชั้นดีในการหาเรื่องของคุณ แล้วมันยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คุณฝึกภาษาอีกด้วย เพราะคนที่เริ่มจะเขียนมักประสบปัญหาที่ว่า "จะเขียนอะไร" "เขียนยังไง" ผมว่า หนังสือ ให้คำตอบคุณได้ทั้งหมด สำหรับคนที่จะเป็นนักเขียนหรือนักเล่าเรื่องแล้วละก็คุณจำเป็นที่จะต้องอ่าน อ่านทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า เพื่อที่คุณจะได้มีคลังข้อมูลหรือแหล่งวัตถุดิบในการเล่าเรื่อง แต่ก็อย่าจมอยู่กับหนังสือมากเกินไปหละ เพราะโลกใบนี้ยังมีอย่างอื่นที่จะช่วยคุณได้อีก

ผมปฎิเสธไม่ได้ว่าคนที่เล่าเรื่องเก่งนั้นต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่างๆอย่างมาก คุณจะต้องหูตาเป็นสัปปะรด ใช้เวลา 24 ชั่วโมงในการจัดเก็บข้อมูลตลอดเวลา ทั้งเรื่องของตัวเองและเรื่องของคนอื่น ดังนั้นสื่ออื่นๆนอกจากหนังสือก็เป็นเครื่องทุ่นแรงในการรับรู้เรื่องราวในโลกได้ เช่น ขึ้นรถฟังวิทยุ ลงรถเจอหนังสือพิมพ์ เดินเข้าบ้านเจอโทรทัศน์ นั่งโต๊ะทำงานเจอคอมพิวเตอร์เปิดอินเตอร์เน็ต เห็นมั้ยละว่าแค่นี้คุณก็ "หูตาเป็นสัปปะรด" ได้แล้ว แต่เพียงเท่านี้ยังไม่พอเพราะสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ "ประสบการณ์ตรง"


น้ำท่วมกรุงเทพฯ,ไฟใหม้,การแย่งชิงกันผ่าไฟแดงกลางท้องถนน, ล้วนนำมาเป็นวัตถุดิบในการสร้างเรื่องราวของคุณได้ การออกไปผจญโลกจึงเป็นส่วนหนึ่งของนักเล่าเรื่อง เคยมีคนให้ข้อสังเกตไว้ว่า "คนเขียนบทหรือเขียนหนังสือเก่งๆส่วนใหญ่มักจะแก่ อายุเยอะ เป็นคุณป้าคุณยาย" ผมพยายามจะหาข้อคัดค้านข้อสังเกตนี้ แต่ผมไม่สามารถทำได้จริงๆ เนื่องจากเหตุผลที่ว่า คุณป้าคุณยายเหล่านั้นท่านผ่านโลกมาเยอะ ดังนั้นท่านจึงมีวัตถุดิบที่จะเล่าเยอะ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของนักเขียนบทรุ่นเก่า แต่ข้อได้เปรียบของนักเขียนรุ่นใหม่ก็คือ มีเรื่องที่สดใหม่และกลวิธีในการเล่าที่ทันสมัยกว่า ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องหาประสบการณ์ต่างๆในชีวิตมาเป็นวัตถุดิบในการเล่านั่นเอง

นอกจากนี้ "ความฝัน" ยังเป็นวัตถุดิบอย่างหนึ่งได้อย่างดี คนทำหนังส่วนหนึ่งนำเรื่องราวมาจากความ
ฝันของตนเอง แล้วนำมาเขียนใส่สีตีใข่ให้น่าสนใจยิ่งขึ้น จนในที่สุดมันก็ออกมาเป็นเรื่องที่ดีได้

จนถึงตอนนี้คุณคงคิดว่า "ฉันเจออะไรมาเยอะและ มีประสบการณ์ตั้งเยอะแยะ ดูสื่อ อ่านหนังสือมาตั้งมากมาย ฉันพร้อมที่จะเขียนบทแล้ว!" หยุดไว้ก่อนครับ!! สิ่งที่คุณยังขาดคือ ความเข้าใจศิลปะของการเล่าเรื่อง ในอุตสหกรรมภาพยนตร์ทุกวันนี้เราขาดแคลน "นักเขียนบทที่ดี" เพราะคนรุ่นใหม่นั้นมักวิ่งเข้าหางานเขียนกันอย่างรีบร้อน ทั้งๆที่ยังไม่รู้จักมันดีพอ และสุดท้ายคุณก็จะได้เรื่องแบบเดิมๆ เล่ากันมาเป็นล้านครั้ง ดังนั้นคุณจำเป็นที่จะต้องเข้าใจ ศิลปะของการเล่าเรื่อง ก่อนที่จะเป็น คนเขียนบทที่ดี ได้

Animagus
...................................................................................................................................................................
อ้างอิง
  • จรูญพร ปรปักษ์ประลัย. คนปรุงเรื่อง. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก. 2552
  • ........... . เอกสารการสอนชุดวิชา การสร้างสรรค์และการผลิตภาพยนตร์เบื้องต้น มหาวิทยาลัยสุโขทัยรรมาธิราช. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.พิมพ์ครั้งที่ 2, 2533
  • ธิดา ผลิตผลการพิมพ์. เขียนบทหนังซัดคนดูให้อยู่หมัด. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Bioscope. พิมพ์ครั้งที่ 3, 2556
  • รักศานต์ วิวัฒน์สินอุดม. 2547. เสกฝัน ปั้นหนัง : บทภาพยนตร์. กรุงเทพฯ : บริษัทบ้านฟ้า.
  • รักศานต์ วิวัฒน์สินอุดม. 2546. การเขียนบทภาพยนตร์. กรุงเทพฯ : คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • รักศานต์ วิวัฒน์สินอุดม. 2545. นักสร้าง สร้างหนัง หนังสั้น. กรุงเทพฯ : โครงการตำรา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น