Translate

วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

FM101 Introduction to Film : Film Genre 3 Formalism พลังแห่งการบิดเบือน

Film Genre 3 Formalism พลังแห่งการบิดเบือน

The Scream by Edvard Munch (1893)

ในมุมหนึ่งของห้วงเวลาในประวัติศาสตร์ มีนักมายากลชาวฝรั่งเศษคนหนึ่งที่ชื่อ Georges Méliès (จอร์จส์ เมลิเอส์) ได้สร้างหนังแนวแฟนตาซีขึ้น เรื่องหนึ่งที่โด่งดังเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดก็คือ A trip to the Moon (1902) ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องรวมตัวกันสร้างจรวจเพื่อขึ้นไปบนดวงจันทร์ กลวิธีในการนำเสนอของเขาคือ การผสมผสานการเล่าเรื่องที่เพ้อฝันเข้ากับการถ่ายภาพแบบที่เรียกว่า trick photography เช่น เทคนิคการทำให้ตัวละครหรือสิ่งของหายไปจากจอภาพด้วยการหยุดเดินกล้องหรือเทคนิคการซ้อนภาพ รวมถึงยังมีการจัดองค์ประกอบภาพอีกด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเขาเป็นผู้ให้กำเนิดภาพยนตร์ประเภทรูปแบบนิยม (Formalism) นั่นเอง

A trip to the Moon (1902) by Georges Méliès
ภาพยนตร์แนวรูปแบบนิยม หรือ Formalism มักจะให้ความสำคัญกับรูปแบบ (Form) มากกว่าเนื้อหา (Content) เน้นแต่ว่าจะนำเสนอความคิดและอารมณ์ออกมาอย่างไร นั่นคือมันเน้นไปในทางเทคนิคโดยการสร้างสรรค์จัดแจงของผู้สร้างภาพยนตร์ให้เป็นไปตามการตีความและทักษะของตน

แสงศตวรรษ (2006) by อภิชาติพงศ์ วีรเศรษฐกุล
กล่าวอย่างง่ายๆคือ คนทำหนังกลุ่มฟอร์มอลิสต์มักนำเอาความเป็นจริงมาปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และบิดเบือนโดยเจตนา เพื่อแสดงทัศนะหรือความเป็นจริงในมุมองของตนเอง กล้องของพวกฟอร์มอลิสต์นี้จึงมักถูกใช้เป็นเครื่องแสดงความคิดเห็นตลอดจนวิพากษ์วิจารณ์ตัวเนื้อหา หรืออีกนัยหนึ่งเพื่อแสดงถึงแก่นแท้หรือสาระสำคัญมากกว่าการแสดงลักษณะทางกายภาพของมัน ดังนั้นจึงเป็นที่แน่นอนว่า หนังฟอร์มอลิสต์เน้นการปรุงแต่ง ตลอดจนการจัดการกับความเป็นจริง และคุณค่าในทางศิลปะของหนังก็อยู่ที่การปรุงแต่งและปรับเปลี่ยนนี่เอง ภาพยนตร์ในรูปแบบนี้จึงมีลักษณะที่ต้องตีความรูปแบบที่ผู้กำกับตั้งใจนำเสนอ เพื่อวิเคาระห์ออกมาเป็นความหมายและอารมณ์อีกชั้นไม่ต่างจากงานศิลปะที่มีความซับซ้อน ซึ่งปัจจุบันงานประเภทนี้ก็แปรสภาพมาสู่งานในแนวงานโมชั่นกราฟฟิคและแผ่ขยายไปในงานเอ็มวี ส่วนในทางภาพยนตร์นั้นงานประเภทนี้จะอยู่ในกลุ่มของงานศิลปะที่หลายครั้งน่าชื่นชมแต่เสียงตอบรับของคนดูในวงกว้างมักจะเป็นไปในแง่ลบ เพราะว่างานลักษณะนี้จำเป็นที่ต้องการให้คนที่เสพมีพื้นฐานทางด้านศิลปะอยู่บ้าง


กล่าวเพียงเท่านี้ ผู้อ่านคงยังไม่เข้าใจถึงแนวทางหรือรูปแบบการนำเสนอของภาพยนตร์ Formalism ดังนั้นผู้เขียนของยกตัวอย่างภาพยนตร์บางเรื่องที่มีรูปแบบในการนำเสนอไปในทาง Formalism ดังต่อไปนี้


ภาพยนตร์เรื่อง The Cabinet of Dr. Caligari (1920) by Robert Wiene



ภาพยนตร์เรื่อง The Cabinet of Dr. Caligari (1920) เป็นเรื่องของชายที่ชื่อฟรานซิสและเขาได้เล่าให้ชายอีกคนฟัง เกี่ยวกับบุคคลแปลกประหลาดที่เขาเคยพบเมื่อนานมาแล้ว ณ โฮลเทนวอลล์ เป็นเมืองเชิงเขาในประเทศเยอรมนี 

ความเป็น Formalism ของภาพยนตร์เรื่องนี้พบได้ทั้งเรื่องเลยทีเดียว หรืออาจะกล่าวได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์แนว Formalism อย่างเต็มตัว เพราะเน้นการนำเสนอด้วยรูปแบบ (form) อย่างมาก ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ขาวดำ หนังมีการใช้สีขาวและสีดำตัดกันอย่างเห็นได้ชัด เช่น ใบหน้าของตัวละครถูกตกแต่งให้ดูขาวจัดเกินความเป็นจริง ตัดกับสีดำของผม คิ้ว ขอบตา และริมฝีปาก ให้แสงและเงาแก่ฉากโดยการวาดแสงและเงาสร้างความชัดลึกให้เห็นภาพทางด้านหลังเป็นถนน กำแพง อาคารบ้านเรือน ส่วนที่เป็นท้องฟ้าก็ใช้สีขาวจัด เส้นที่วาดด้วยด้วยสีดำจะหนาหนักและวาดส่วนสัดของต่างๆ บิดผันไปจากความจริง เช่น ประตูและหน้าต่างมีรูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมู เป็นต้น บางสิ่งก็ยังแสดงออกเป็นสัญลักษณ์ เช่น ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนั่งอยู่บนเก้าอี้ตัวสูงกว่าปกติ เวลาราษฎรมาพบก็ต้องกระโดดลงมาหา บรรยากาศโดยทั่วไปดูหน้ากลัวด้วยลักษณะการวาดฉากและเนื้อหาของเรื่องที่เกี่ยวกับการฆาตกรรมนั่นเอง

เรื่องราวและวิธีการนำเสนอของ The Cabinet of Dr. Caligari (1920) มุ่งวิพากษ์ความเลวร้ายของการปกครองของเยอรมนีในสมัยนั้น ซึ่งนำพาประเทศเข้าสู่สงคราม ฉากหลังอันบิดเบี้ยวสื่อถึงภาวะผิดเพี้ยนที่สังคมต้องเผชิญ ส่วนตัวละครอย่าง ดร.คาลิการี่ ก็คือตัวอย่างของชนชั้นปกครองที่สร้างเรื่องเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นเพราะความเห็นแก่ตัว




Animagus
...................................................................................................................................................................
อ้างอิง
  • ประวิทย์ แต่งอังกษร. มาทำหนังกันเถอะ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Bioscope. พิมพ์ครั้งที่ 3, 2556
  • ........... . เอกสารการสอนชุดวิชา ทฤษฎีและการวิจารณ์ภาพยนตร์เบื้องต้น มหาวิทยาลัยสุโขทัยรรมาธิราช. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.พิมพ์ครั้งที่ 1, 2548
  • http://www.filmzick.com/blogs/time-machine-dr-caligari/
  • http://en.wikipedia.org/wiki/Expressionism

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น