Translate

วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2556

FM102 Film History : ยุคบุกเบิก 1 ประดิษฐกรรมมหัศจรรย์

ยุคบุกเบิก (ค.ศ 1815 - 1895) ตอนที่ 1 ประดิษฐกรรมมหัศจรรย์

เครื่อง Magic Lantern
การศึกษาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์นั้นจำเป็นอย่างมากที่จะต้องศึกษาในเรื่องของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพราะเรามิอาจปฏิเสธได้ว่าเทคโนโลยีมีส่วนในการขับเคลื่อนอุตสหกรรมภาพยนตร์ และความก้าวกน้าทางเทคโนโลยีนี้ก็มีผลมาจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งในเวลาต่อมามันทำให้หน้าตาของโลกที่เรารู้จักเปลี่ยนไปผ่านการ "ปฏิวัติอุตสาหกรรม" นั้นเอง

ความพยามให้การสร้างภาพเคลื่อนไหวของมนุษย์นั้นเกิดขึ้นจากการศึกษาหลักการภาพติดตา (Persistence of Vision) ซึ่งถูกศึกษา ทดลอง และสาธิตโดยนักวิทยาศาสตร์มากมาย ซึ่งมันกลายมาเป็นหัวใจของการเกิดภาพเคลื่อนไหวหรือภาพยนตร์ในเวลาต่อมา ในที่สุดจากหลักการภาพติดตานี้ทำให้เกิดของเล่นทางวิทยาศาสตร์ขึ้นมามากมายได้แก่

Thaumatrope By Dr. John Aryton Paris
Thaumatrope (ทรอมาโทรป) โดย Dr. John Aryton Paris (บางตำราว่าถูกสร้างโดย Dr. William Henry Fitton) สิ่งประดิษฐ์นี้มีลักษณะเป็นแผ่นกลม มีภาพเขียนอยู่สองด้าน ที่นิยมกันมากคือรูปนกด้านหนึ่งอีกด้านหนึ่งเป็นกรงนก เวลาหมุนด้วยความเร็วพอเหมาะก็จะเห็นภาพเหมือนกับว่านกเข้าไปอยู่ในกรงนั่นเอง ซึ่งเกิดจากแนวคิดที่มนุษย์เราสามารถเห็นเหรียญทั้งสองด้านที่หมุนอยู่ได้พร้อมกัน ที่เรียกกันว่า มหัศจรรย์แห่งการหมุน (Wonder Turning) นั่นเอง







สิ่งประดิษฐ์อีกชิ้นหนึ่งได้แก่ Phenakistoscope (ฟิเนคิสโตสโครป) โดย Plateau มีลักษณะเป็นแผ่นกลมที่มีภาพชุดหนึ่งรวมกันอยู่ เช่น ภาพแมวกระโดด เวลาดูต้องส่องกระจกที่อยู่ด้านตรงข้ามกับแผ่นกลมจึงจะเห็นภาพเหล่านั้นเคลื่อนไหวได้

Phenakistoscope By Plateau
นอกจากนี้ยังมีสิ่งประดิษฐ์อีกชิ้นหนึ่งที่รู้จักกันอย่างมากและเป็นที่นิยมกันในยุดหนึ่งได้ Zoetrope (โซโทรป) หรือ Wheel of Life โดย George Horner ซึ่งมีลักษณะเป็นภาพชุดติดอยู่กับแกนหมุน เมื่อหมุนแกนภาพก็จะดูเหมือนเคลื่อนไหวได้
Zoetrope By George Horner
แต่การเดินทางของสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ก็ไม่อาจจะทำให้เกิดภาพยนตร์ได้ ตราบได้ที่ยังไม่มีภาพถ่าย ซึ่งถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ของภาพถ่ายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดภาพเคลื่อนไหวเราจะพบว่าบุคคลแรกที่ประยุกต์การใช้ภาพถ่ายให้เกิดภาพเคลื่อนไหวคือ Eadweard Muybridge ช่างภาพชาวอังกฤษที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานและทำอาชีพช่างถ่ายรูปอยู่ที่ซานฟรานซิสโก ในปี ค.ศ. 1872 Laland Standford ผู้ว่าการรัฐแคลลิฟอร์เนียซึ่งเป็นเจ้าของคอกม้าและนักแข่งม้าได้ท้าพนันกับคู่แข่งของเขาเป็นเงิน 25,000 ดอลล่าร์ว่า ในการควบวิ่งของม้านั้น จะมีเวลาหนึ่งที่ขาทั้งสี่ข้างของม้าลอยขึ้นเหนือพื้นดิน โดยว่าจ้างให้ Muybridge หาทางพิสูจน์ข้อเท็จจริง

Eadweard Maybridge
เขาหาทางพิสูจน์อยู่นานมาก จนได้รับการช่วยหลือจากเพื่อนของเขาที่เป็นวิศวกรชื่อ John D. Isaacs จึงสามารถพิสูจน์ได้ โดยเขาตั้งกล้อง 12 ตัวเรียงไว้ข้างสนาม แล้วขึงเชือกเล็กๆขวางทางวิ่งไว้ 12 จุด ซึ่งแต่ละจุดจะมีเชือกเส้นเล็กๆนั้นผูกติดกับไกชัตเตอร์ เมื่อม้าวิ่งโดนเชือก ไกของกล้องก็จะถูกเหนี่ยวและเกิดการถ่ายภาพขึ้น เมื่อ Muybridge ถ่ายภาพได้แล้ว ก็นำภาพที่ได้มาติดวงล้อหมุน แล้วฉแายด้วยเครื่อง Magic Lantern ทำให้เห็นการเคลื่อนไหวของม้าต่อเนื่องเหมือนจริง หลังจากนั้นเขาก็ได้ทดสอบซ้ำอีกครั้งกับกล้อง 24 ตัว จนในที่สุดเขาก็สามารถพิสูจน์ได้ในที่สุด

หลังจากนั้น Muybridge ก็ได้ถ่ายและฉายภาพเคลื่อนไหวแบบเดียวกันนี้เป็นอาชีพ และแถบภาพหรือภาพชุดในของเล่นภาพติดตาทั้งหลายก็ได้เปลี่ยนมาเป็นภาพถ่ายแทนภาพเขียน แต่การถ่ายภาพของเขาก็ยังไม่ถือว่าเป็นภาพยนตร์แต่อย่างใด เนื่องจากว่ามันถ่ายทำด้วยกล้องภาพนิ่งและต้องใช้กล้องเป็นจำนวนมากตั้งแต่ 12 ตัว หรือ 20 หรือบางทีมากถึง 40 ตัวเลยทีเดียว มันจึงถือว่าเป็นการจับภาพหรือถ่ายภาพของสิ่งที่เคลื่อนไหวเร็วๆให้หยุด (Stop Motion) มากกว่าที่จะสร้างภาพเคลื่อนไหวให้ปรากฏบนจอ


Etienne Jules Marey
และในปี ค.ศ. 1881 สแตนฟอร์ด ได้นำภาพถ่ายชุดแสดงการเคลื่อนไหวของเมบริดจ์ไปให้กับนักวิทยาศาสตร์ และกลุ่มศิลปินในยุโรปชม ที่กรุงปารีส โดยที่ Muybridge เดินทางไปด้วย และได้พบกับ Etienne Jules Marey นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศษที่สนใจศึกษาในเรื่องของภาพเคลื่อนไหว และมารีก็ได้นำเอาเทคนิดของเมบริดจ์นี้ไปพัฒนาสร้างปืนถ่ายภาพ อันเป็นการใช้กล้องตัวเดียวในการถ่ายภาพเคลื่อนไหวได้สำเร็จในปี 1882 แต่มันก็ยังไม่สามารถที่จะบันถึงภาพเคลื่อนไหวได้ยาวนานกว่า 2-3 วินาทีได้





ปืนถ่ายภาพ ของ Etienne Jules Marey
จนถึงตอนนี้เราใกล้เดินทางมาถึงจุดกำเนิดของภาพยนตร์อย่างแท้จริงแล้ว การเดินทางย้อนเวลาในโลกของภาพยนตร์นั้นเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับช่วงเวลาและเทคโนโลยีอย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้น จึงมีผู้รู้ได้กว่าไว้ว่า "พัฒนาการของภาพยนตร์ เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับพัฒนาการของศิลปะและเทคโนโลยี" เราจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาพัฒนาการของศิลปะและเทคโนโลยีไปพร้อมๆกับประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์นั่นเอง


Animagus

...................................................................................................................................................................
อ้างอิง
  • เยาวนันท์ เชฏฐรัตน์. ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา กรมการศาสนา
  • ........... . เอกสารการสอนชุดวิชา การสร้างสรรค์และการผลิตภาพยนตร์เบื้องต้น มหาวิทยาลัยสุโขทัยรรมาธิราช. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.พิมพ์ครั้งที่ 2, 2533
  • James Monaco. (2009). How to read a Film. New York : Oxford University Press,Inc.
  • http://filmv.wordpress.com/unit-1/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%94/
  • http://www.procrastin.fr/blog/?2008/06/22/137-tir-photographique=
  • http://www.eadweardmuybridge.co.uk/muybridge_image_and_context/introducing_muybridge/

วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556

FM103 Film Aesthetics : Film Form 2

Film Form.... ตอนที่ 2 : Principle of Film Form

Battleship Potemkin (1925)
เรารู้จัก Film Form ไปแล้วว่า มันคือ แนวทางในการศึกษาภาพยนตร์อย่างเป็นระบบ โดยศึกษาองค์ประกอบต่างๆของภาพยนตร์ที่ทำงานอย่างสัมพันธ์กัน รวมไปถึงสิ่งที่ผู้ชมจะได้รับอีกด้วย ดังนั้นสิ่งที่เราจะต้องเข้าใจในเรื่องต่อไปคือ "Film Form มันทำงานอย่างไรหละในภาพยนตร์?" นั่นคือการศึกษา Principle of Film Form หรือหลักการของ Film Form นั่นเอง

หลักการของ Film Form นี้พูดถึงภาพรวมของสิ่งต่างๆที่ผู้ชมสามารถรับรู้หรือสังเกตเห็นได้จากในภาพยนตร์ทั่วๆไป ถึงแม้ว่าภาพยนตร์แต่ละเรื่องจะมีเอกลักษณ์ในการนำเสนอแตกต่างกันไป แต่ภาพยนตร์เหล่านั้นล้วนอาศัยหลักการพื้นฐานของ Film Form เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารความหมาย อารมณ์หรืออะไรก็ตามที่ผู้สร้างต้องการให้ผู้ชมได้รับ ซึ่งเราสามารถจำแนกให้เห็นได้ว่ามีหลักการทั่วไป 5 ประการที่มีบทบาทต่อการทำงานของรูปแบบของภาพยนตร์ ได้แก่
  • หน้าที่ (Function)
  • ความคล้ายคลึงและการทำซ้ำ (Similarity and Repetition)
  • ความแตกต่างและความหลากหลาย (Difference and Variation)
  • การพัฒนาเรื่อง (Development)
  • ความเป็นเอกภาพและความไม่เป็นเอกภาพ (Unity and Disunity)

หน้าที่ (Function)
     
เวลาเราดูหนังเรามักจะพบว่า หนังแต่ละเรื่องนั้นมีรูปแบบของการทำเสนอที่แตกต่างกัน เช่น การจัดแสงมืดหรือสว่าง สีของเสื้อผ้าที่แตกต่างกันของแต่ละตัวละคร เป็นต้น เราก็จะเกิดคำถามว่า "ทำไมมันต้องจัดแสงแบบนี้วะ?" หรือ "ทำไมตัวร้ายตัวนี้ต้องใส่เสื้อสีแดงตลอดเวลา ตู้เสื้อผ้าไม่มีสีอื่นเลยไง?" หรือ "ทำไมภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องใช่แต่สีขาวดำ?" คำถามทั้งหมดทั้งมวลนี้ คำตอบคือ เป็นเพราะส่วนประกอบเหล่านั้นมันทำหน้าที่อะไรบางอย่างในภาพยนตร์ ซึ่งมันจำเป็นจะต้องมีปัจจัยที่กำหนดหน้าที่ของส่วนต่างๆเหล่านั้นในหนัง ส่วนประกอบทุกส่วนจะต้องมีบทบาทหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ตัวละครทุกตัวหรือสิ่งของทุกสิ่งที่ปรากฏในภาพยนตร์จะต้องมีหน้าที่บอกอะไรบางอย่างเสมอ ตัวอย่างเช่น

Brave (2012)
แสงและสีในฉากของภาพยนตร์เรื่อง Brave (2012) ฉากนี้เป็นฉากที่เด็กสาวกำลังจะถูกนำพาให้ไปเจอกับแม่มดซึ่งทำให้เกิดเรื่องร้ายแรงตามมาในเรื่อง โทนสีของฉากนี้มืดมนลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งแตกต่างจากตอนต้นเรื่องที่สีสันสดใส บ่งบอกถึงความที่เด็กสาวมีลักษณะนิสัยสนุกร่าเริง นั่นแสดงให้เห็นว่า องค์ประกอบทางด้านแสงและสีในภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้ทำหน้าที่บอกความหมายบางอย่างในภาพยนตร์นั่นเอง



ความคล้ายคลึงและการทำซ้ำ (Similarity and Repetition)
     
เราคงเคยหนังบางเรื่องที่เราสังเกตเห็นอะไรบางอย่างที่ปรากฏออกมาอย่างซ้ำๆหรือคล้ายคลึงกันในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์ประกอบฉาก สี สถานที่ เสียง ภาพ หรือแม้แต่นิสัยบางประการของตัวละคร และตอนสุดท้ายของเรื่องมันมีผลต่อความเข้าใจหรือการตีความเนื้อเรื่องนั้นๆ ตัวอย่างเช่น

Inception (2010)
ในภาพยนตร์เรื่อง Inception (2010) ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางเข้าไปในโลกของความฝัน ซึ่งเรื่องจะเล่าสลับกันไปมาระหว่างโลกแห่งความจริงและความฝัน ซึ่งปัญหาก็คือ แล้วโลกไหนเป็นโลกแห่งความจริงและโลกไหนคือโลกแห่งความฝัน ซึ่งหนังก็ได้เฉลยหรือบอกใบ้เราด้วยอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งหรือที่เรียกว่า Totem ที่เห็นได้ตลอดทั้งเรื่อง หซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องอย่างมากหรือแม้แต่นิสัยส่วนตัวของพระเอกที่มักจะนำอดีตภรรยาเข้ามามีส่วนร่วมในความฝัน ซึ่งนั่นก็สะท้อนให้เห็นหลักการของ Film Form ข้อนี้นั่นเอง

ความคล้ายคลึงและการทำซ้ำเป็นหลักการสำคัญของรูปแบบภาพยนตร์ การดูภาพยนตร์ให้รู้เรื่องขึ้นอยู่กับความสามารถในการจดจำสิ่งที่เกี่ยวข้องคล้ายคลึงกัน โดยเราจำเป็นที่จะต้องจำตัวละครและฉากต่างๆได้ เมื่อหวนกลับมาปรากฏอีกครั้ง ในภาพยนตร์แต่ละเรื่องเราสามารถสังเกตเห็นความคล้ายคลึงและความซ้ำของทุกสิ่งได้ตลอดทั้งเรื่อง นับตั้งแต่บทสนทนา ดนตรี ไปจนถึงตำแหน่งของกล้อง พฤติกรรมของตัวละคร และการกระทำในเรื่อง ซึ่งการที่เราจำความคล้ายและความซ้ำนี้ได้จะทำให้เราเกิดความพึงพอใจในการชมภาพยนตร์เหมือนเช่นเวลาอ่านบทกวีที่มีเสียงซ้ำกันเป็นจังหวะ

เรามีคำเรียกความซ้ำของรูปแบบว่า โมทีฟ (Motif) ส่วนประกอบที่มีความซ้ำกันอยู่ในภาพยนตร์ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ สี เสียง สิ่งต่างๆ หรือแม้แต่บุคลิเฉพาะของตัวละครเราก็เรียกว่าโมทีฟ (Motif) และถ้าการจัดแสงหรือการวางตำแหน่งกล้องปรากฏขึ้นซ้ำๆกันตลอดทั้งเรื่อง เราก็เรียกมันว่าโมทีฟ (Motif) เช่นกัน

ความแตกต่างและความหลากหลาย (Difference and Variation)

คนดูมักคาดหวังให้เรื่องดำเนินไปหรือเกิดความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอแทนที่เรื่องจะอยู่กับที่ รวมทั้งยังคาดหวังที่จะเห็นความหลากหลายในองค์ประกอบต่างๆอีกด้วย เช่น ฉาก ตัวละคร อุปกรณ์ประกอบฉาก เป็นต้น ดังนั้นรูปแบบการนำเสนอในภาพยนตร์แต่ละเรื่องจำเป็นที่จะต้องให้เกิดความหลากหลายและแตกต่างกันเพื่อเป็นเอกลักษณ์และตอบสนองความต้องการของผู้ชม หากรูปแบบประกอบด้วยความซ้ำเพียงอย่างเดียว ก็เป็นรูปแบบที่น่าเบื่อได้ แต่ภาพยนตร์จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือความหลากหลายด้วยไม่มากก็น้อย คามแตกต่างจึงเป็นหลักการพื้นฐานอย่างหนึ่งของรูปแบบภาพยนตร์

ฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง Inception (2010)
แม้ว่าโมทีฟ (Motif) จะปรากฏขึ้นหลายครั้ง มันก็จะไม่เหมือนกันทุกครั้ง เช่น ในเรื่อง Inception (2010) การตื่นจากฝันของตัวละครแต่ละครั้งก็ไม่เหมือนกัน หรือเหตุการณ์ที่ทำให้ Totem ของพระเอกปรากฏในเรื่องแต่ละครั้งก็ไม่เหมือนกัน เป็นต้น

การพัฒนาเรื่อง (Development)

เรื่องราวที่ดีนั้นคือเรื่องราวที่เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ ดังนั้นการนำเสนอรูปแบบขององค์ประกอบต่างๆจำเป็นที่จะต้องสัมพันธ์กับเรื่องราวที่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปข้างหน้า โดยการพัฒนาเรื่องราวจะดำเนินไปเป็นช่วงๆ ดังภาพ 


  • การเปิดเรื่อง (Exposition)
  • การพัฒนาเรื่องราว (Rising Action)
  • จุดสูงสุดของเรื่อง (Climax)
  • การคลี่คลาย (Falling Action & Resolution)
การพัฒนาคือกระบนการที่ก้าวไปข้างหน้า จากตอนหนึ่งไปสู่อีกตอนหนึ่ง วิธีการหนึ่งในการที่จะบอกว่าภาพยนตร์มีการพัฒนาเพียงไรก็คือ การเปรียบเทียบตอนต้นเรื่องกับตอนท้ายเรื่อง โดยมองหาความคล้ายคลึงและความแตกต่างระหว่างตอนต้นกับตอนท้ายนี้จะทำให้เราเข้าใจแบบรูป (pattern) ทั้งหมดของภาพยนตร์

ความเป็นเอกภาพและความไม่เป็นเอกภาพ (Unity and Disunity)

การทำงานของ Film Form ที่ดีจำเป็นต้องอาศัยความสัมพันธ์กันระหว่างการเล่าเรื่อง (Narrative) และวิธีการเล่าเรื่อง (style) ดังนั้นในระหว่างที่เรื่องดำเนินไปการเล่าเรื่องและกลวิธีก็จะทำงานอย่างสัมพันธ์กันตลอดทั้งเรื่องทำให้เกิดความเป็นเอกภาพ หรือพูดง่ายๆคือมันเล่าเรื่องไปในทิศทางเดียวกันตลอดทั้งเรื่อง หากส่วนต่างๆที่ใส่เข้าไปในเรื่องแล้วไม่ได้ทำหน้าที่อะไร หรือใส่ไปแล้วไม่ได้ช่วยเล่าเรื่องหรือช่วยสื่อความหมายใดๆหนังเรื่องนั้นก็อาจะเรียกได้ว่า ไม่มีเอกภาพ

แต่ก็มีผู้สร้างหนังบางคนที่เลือกใช้ความไม่เป็นเอกภาพมาใช้เป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่อง เพื่อให้เกิดผลบางอย่าง และเป็นกลวิธีส่วนตัวของผู้สร้างนั่นเอง

Totem ของพระเอกในเรื่อง Inception (2010)
และทั้งหมดนี้คือหลักการในการทำงานของ Film Form เพื่อเป็นแนวทางในการใช้กลวิธีในการเล่าเรื่องได้อย่างเต็มความสามารถและเกิดผลมากที่สุด ดังนั้นเรื่องของ Film Form จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่ไม่ว่านักเรียนหนัง ผู้กำกับ คนทำงานในอุตสหรรมภาพยนตร์ หรือแม้แต่กระทั่งคนดูหนังต้องศึกษา เพื่อให้เกิดความเข้าใจภาพยนตร์อย่างถ่องแท้

Animagus
Update Thu Sep 5 2013
...................................................................................................................................................................
อ้างอิง
  • ประวิทย์ แต่งอังกษร. มาทำหนังกันเถอะ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Bioscope. พิมพ์ครั้งที่ 3, 2556
  • ........... . เอกสารการสอนชุดวิชา ทฤษฎีและการวิจารณ์ภาพยนตร์เบื้องต้น มหาวิทยาลัยสุโขทัยรรมาธิราช. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.พิมพ์ครั้งที่ 1, 2548
  • Ron Johnson & Janbone. (1978). Understanding the Film. U.S.A. : National Textbook Company
  • Jill Nelmes. (1996). An Introduction to Film Studies. London : Simultaneously published
  • Leo Braudy & Marshall Cohen. (1999). Film Theory and Criticism. New York : Oxford University Press, Inc.
  • John Hill & Pamela Church Gibson. (2000). Film Studies. New York : Oxford University Press, Inc.
  • David Bordwell & Kristin Thompson. (2012) Film Art: An Introduction. The McGraw-Hill Companies, Inc.
  • http://www.elementsofcinema.com/film_form/FILM-FORM.html
  • http://criticalmissmoviesandreviews.blogspot.com/2012/05/mass-effect-3-ending.html
  • http://www.sliceofscifi.com/2012/06/22/brave-a-slice-of-scifi-movie-review/
  • http://www.birthofgaia.com/t107p30-xeia-s-archives

FM103 Film Aesthetics : Film Form 1

Film Form... ตอนที่ 1

The Cabinet of Dr. Caligari (2006)

ในโลกของการศึกษาภาพยนตร์นั้น สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญคือ "แนวทางในการศึกษา" หรือ "จะศึกษาภาพยนตร์อย่างไร" ดังนั้น นักวิชาการจึงต้องหาแนวทางในการศึกษาภาพยนตร์อย่างเป็นระบบ จึงได้จัดองค์ประกอบต่างๆของภาพยนตร์และมองภาพยนตร์เป็นงานสร้างสรรค์ที่มีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์และมีรูปแบบบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน นั่นเป็นที่มาของคำว่า "Film Form"

Film Art An Introduction 
by David Bordwell & Kristin Thompson

Film Form เกี่ยวข้องกับสุนทรียศาสตร์ตรงที่ว่า การศึกษา Film Form เป็นการศึกษาเพื่ออธิบายองค์ประกอบต่างๆมากมายในภาพยนตร์ที่ทำงานกันอย่างเป็นระบบและสัมพันธ์กัน นอกจากนี้มันยังอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างภาพยนตร์กับความคาดหวังหรือคาดเดาเหตุการณ์ ความรู้และประสบการณ์ ความรู้สึกของผู้ชม รวมทั้งการตีความและประเมินคุณค่าของภาพยนตร์โดยผู้ชมอีกด้วย ดังนั้นมันจึงนำไปสู่การรู้จักองค์ประกอบต่างๆของภาพยนตร์ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างให้ภาพยนตร์เป้นงานศิลปะที่มีความงามและเป็นเอกลักษณ์นั่นเอง


David Bordwell & Kristin Thompson ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับภาพยนตร์ชื่อ Film Art An Introduction ได้เสนอทัศนะว่า Film form คือ เนื้อหา (content) หรือเรื่องราวเหตุการณ์ ที่ทำงานสัมพันธ์กับองค์ประกอบอื่นๆ เช่น ตัวละคร มุมกล้อง แสง เสียง ดนตรี ฯลฯ  จนเกิดเป็นงานศิลปะ (artwork) ที่เรียกว่า ภาพยนตร์ และเมื่อผู้ชมๆภาพยนตร์ก็จะกระตุ้นให้คาดหวังหรือคาดเดาเหตุการณ์ตามเรื่อง ตลอดจนก่อให้เกิดความประทับใจจากการทำงานอย่างสัมพันธ์กันขององค์ประกอบต่างๆ ดังนี้




องค์ประกอบต่างๆ (Element) ของ Film Form ที่จะต้องทำงานประสานกัน ได้แก่

  • เรื่องราว (Narrative element) : องค์ประกอบของการเล่าเรื่อง เช่น การเปิดเรื่อง การพัฒนาเรื่องราว ตัวละคร เหตุการณ์ เป็นต้น
  • วิธีการหรือสไตล์ (Stylistic element) : พูดกันง่ายๆบ้านๆ คือภาษาของภาพยนตร์ เป็นวิธีการเล่าเรื่องผ่านเทคนิคต่างๆ เช่น องค์ประกอบภาพ เทคนิคกล้อง การใช้สี แสง ดนตรี หรืออื่นๆ เป็นต้น
คนทั่วไปมักคิดว่า "รูปแบบ" (Form) มักตรงข้ามกับเนื้อหา (Content) โดยคิดเสมือนว่าภาพยนตร์เป็นภาชนะซึ่งบรรจุบางสิ่งบางอย่างไว้ข้างใน หากคิดดังนี้ รูปแบบหรือรูปร่างภายนอกก็ย่อมมีความสำคัญน้อยกว่าสิ่งที่บรรจุอยู่ภายใน แต่แท้จริงแล้วรูปแบบเป็นระบบรวมทั้งหมด (Total System) ของภาพยนตร์ ส่วนประกอบทุกชิ้นมีบทบาทหน้าที่อยู่ภายในระบบนี้ และเนื้อหาก็เป็นส่วนประกอบพื้นฐานของรูปแบบด้วยและมีความสัมพันธ์กับส่วนประกอบอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น

The Birth of a Nation by D.W. Griffith

เนื้อหาสงครามกลางเมืองในภาพยนตร์เรื่อง The Birth of Nation (1915) สงครามไม่ได้เป็นเน้ือหาที่เป็นกลาง (Neutral Content) แต่หากมีความสัมพันธ์กับส่วนประกอบอื่นๆ อาทิ เรื่องของสองครอบครัว ความคิดทางการเมืองเกี่ยวกับการฟื้นหูสังคม และสไตล์ของภาพยนตร์แบบมหากาพย์ที่มีฉากสงคราม ในขณะเดียวกันเนื้อหาของสงครามกลางเมืองในภาพยนตร์เรื่องอื่นก็อาจจะมีบทบาทที่ต่างกันกันไปในระบบของรูปแบบเรื่องนั้นๆ เช่น เรื่อง Gone with the Wind (1939) สงครามกลางเมืองงมีบทบาทเป็นเพียงฉากหลังของความรักของนางเอก ในขณะที่สงครามกลางเมืองในเรื่อง The Good, the Bad and the Ugly (1968) มีบทบาทต่อการค้นหาทองคำของชายสามคน ดังนั้นเนื้อหาจึงถูกสร้างขึ้นโดยบริบทของรูปแบบนั่นเอง


Gone with the Wind by Victor Fleming.
โดยสรุปแล้วองค์ประกอบต่างๆ ในการศึกษาเรื่อง Film Form มีทั้งหมด ดังนี้



ซึ่งหลักการทำงานของ Film Form และรายละเอียดขององค์ประกอบต่างๆ เราจะได้ศึกษากันในโอกาสต่อไป

มาถึงตอนนี้ผู้อ่านบางท่านคงจะปิดไปแล้ว หรือยังไม่เข้าใจว่า "ตกลง Film Form มันคืออะไรกันแน่?" หรือบางท่านอาจจะพอเข้าใจแล้ว แต่เอาเป็นว่าสรุปง่ายๆคือ การศึกษา Film Form คือ การศึกษารูปแบบต่างๆขององค์ประกอบในภาพยนตร์ที่ทำงานอย่างสัมพันธ์กัน รวมไปถึงผลกระทบต่อผู้ชมอีกด้วย


Animagus
Update Thu Sep 5 2013
...................................................................................................................................................................
อ้างอิง
  • ........... . เอกสารการสอนชุดวิชา ทฤษฎีและการวิจารณ์ภาพยนตร์เบื้องต้น มหาวิทยาลัยสุโขทัยรรมาธิราช. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.พิมพ์ครั้งที่ 1, 2548
  • Ron Johnson & Janbone. (1978). Understanding the Film. U.S.A. : National Textbook Company
  • Jill Nelmes. (1996). An Introduction to Film Studies. London : Simultaneously published
  • Leo Braudy & Marshall Cohen. (1999). Film Theory and Criticism. New York : Oxford University Press, Inc.
  • John Hill & Pamela Church Gibson. (2000). Film Studies. New York : Oxford University Press, Inc.
  • David Bordwell & Kristin Thompson. (2012) Film Art: An Introduction. The McGraw-Hill Companies, Inc.
  • http://www.elementsofcinema.com/film_form/FILM-FORM.html
  • http://movies.nytimes.com/2006/10/25/movies/25cali.html?_r=0

FM103 Film Aesthetics : สุนทรียศาสตร์คือ...?

สุนทรียศาสตร์คือ...?


คำว่า "สุนทรียศาสตตร์" มาจากคำในภาษาสันสกฤษว่า "สุนทรียะ" ซึ่งแปลว่า "ความงาม" กับคำว่า "ศาสตร์" ซึ่งแปลว่า "วิชา" ดังนั้นเมื่อนำมารวมกันแล้วจึงได้ความหมายว่า "วิชาที่ว่าด้วยความงาม" นั่นเอง

Aesthetica (1750)
by Alexander Gottlieb Baumgarten
นักปรัชญาชื่อ Alexander Gottlieb Baumgarten ได้เขียนหนังสือชื่อ "Aesthetica" เมื่อปี 1750 หนังสือเล่มนี้ได้พูดถึง  ความแตกต่างระหว่างความรู้ทางผัสสะ (ความรู้ที่เกิดจากประสาทสัมผัส) และความรู้ที่เป็นเหตุผลตามนัยแห่งตรรกวิทยา จึงขาดรายละเอียดในด้านศิลปะและความงาม แต่นักปรัชญาโดยทั่วไปก็ยกย่องให้เขาเป็นคนแรกที่เริ่มใช้คำว่า "Aesthetica หรือ Aesthetic" แต่ถ้าเราศึกษาปรัชญาในยุคกรีกโบราณนั้นเราจะพบว่า มีการใช้คำว่า "Aisthetikos" แปลว่า "รู้ด้วยผัสสะ" มาก่อนแล้ว ซึ่ง Baumgarten ได้หยิบยืมมาใช้อีกที นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาคำว่า "Aesthetics" จึงถูกใช้เมื่อมีการวิเคราะห์ถึงปัญหาเกี่ยวกับศิลปะและความงาม


หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็มีนักปรัชญามากมายเริ่มศึกษาสุนทรีศาสตร์กันอย่างจริงจัง และมีนักปรัชญาได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับสุนทรียศาสตร์ไว้น่าสนใจหลายคน ตัวย่างเช่น

Tatakiewictz นักปรัชญาศิลปะชาวโปแลนด์ ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับความหมายของสุนทรียศาสตร์ไว้ว่า สุนทรียศาสตร์เป็นศาสตร์ที่มีความหมายรวมอยู่ในเรื่องของความงามและการรับรู้ ซึ่งต่างจากของ Immanuel Kant ที่เชื่อว่าสุนทรียศาสตร์เป็นความรู้ที่เป็นจริงในตัวเอง ไม่ขึ้นกับประสบการณ์และการรับรู้ แต่มีความสัมพันธ์กับความพึงพอใจและความเจ็บปวด ทัศนะของค้านท์บอกว่าสุนทรียศาสตร์ไม่เกี่ยวกับการทำงานของสมองในส่วนที่ทำหน้าที่ตัดสินใจ ส่วนนักปรัชญา Santayana บอกว่าสุนทรียศาสตร์เป็นศาสตร์แห่งความรู้สึก ซึ่งรวมถึงฝ่ายสุขและฝ่ายทุกข์ ทัศนะนี้เป็นที่ยอมรับกันมาก เพราะไม่ได้เน้นในเรื่องของความงามของศิลปะเพียงอย่างเดียว แต่มองไปไกลถึงความรู้ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกทั้งฝ่ายดีและฝ่ายร้าย หรือฝ่ายสุขและฝ่ายทุกข์นั่นเอง

เราคงพอจะเห็นแล้วว่าการศึกษาสุนทรียศาสตร์นั้นไม่ได้ศึกษาความงามเท่านั้น เพราะเราไม่สามารถตัดสินความงามมาตรฐานให้แน่นอนได้ และความงามก็ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่ในศิลปะเท่านั้น ถึงแม้ว่ามันจะสามารถนำเราไปสู่การค้นคว้าทางศิลปะก็ตาม ดังนั้น ศิลปะจึงไม่ใช่สิ่งที่เกี่ยวข้องกับความงามเสมอไป

Animagus
...................................................................................................................................................................
อ้างอิง

  • กำจร สุนพงษ์ศรี. สุนทรียศาสตร์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย, 2555
  • วนิดา ขำเขียว,ผศ.. สุนทรียศาสตร์. กรุงเทพฯ : พรานนกการพิมพ์, 2543
  • ........... . เอกสารการสอนชุดวิชา ทฤษฎีและการวิจารณ์ภาพยนตร์เบื้องต้น มหาวิทยาลัยสุโขทัยรรมาธิราช. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.พิมพ์ครั้งที่ 1, 2548



FM101 Introduction to Film : Film Genre 1

Film Genre... (ประเภทของภาพยนตร์) ตอนที่ 1


เหตุผลที่ผมเลือกที่จะเขียนเรื่องราวของประเภทของภาพยนตร์ก่อนเรื่องอื่นๆ คือ มีการถกเถียงกันอย่างมากในกลุ่มนักศึกษาหนังว่า "ตกลงแล้วภาพยนตร์มีกี่ประเภท? อะไรบ้าง?" ซึ่งก็เป็นปัญหาอยากมากในการแบ่งประเภทของภาพยนตร์ได้อย่างชัดเจน เพราะภาพยนตร์เป็นศิลปะที่ไม่มีลักษณะตายตัว ดังนั้นการแบ่งประเภทของภาพยนตร์จึงเป็นเรื่องยาก

Genre (อ่านว่า ฌอง-ร่า) เป็นคำภาษาฝรั่งเศส แปลว่า ชนิด หรือ ลักษณะ ซึ่งก็หมายถึงการกำหนดคำเรียกให้กับชนิดของศิลปะแต่ละประเภท ซึ่งมองได้อย่างไม่มีขอบเขต โดยวัดจากส่วนประกอบหลักๆ 3 อย่าง ได้แก่ เวลาและสถานที่ (Setting) , อารมณ์ (Mood), รูปแบบการนำเสนอ (Format)

ถ้าเราศึกษาภาพยนตร์ในระดับหนึ่งเราจะพบว่า การแบ่งประเภทของภาพยนตร์ที่ใช้รูปแบบการนำเสนอ (form) เป็นเกณฑ์แบ่งภาพยนตร์อย่างกว้างๆ ได้แก่

  • ภาพยนตร์สัจนิยม (Realism)
    • เน้นการนำเสนอความจริงไม่ปรุงแต่งออกสู่สายตาโดยผ่านกล้อง หนังประเภทนี้มักหลีกเลี่ยงรูปแบบ (form) ในการนำเสนอ บันทึกภาพความจริง
  • ภาพยนตร์รูปแบบนิยม (Formalism)
    • ภาพยนตร์ประเภทนี้เน้นการนำเทคนิคทางศิลปะเข้ามาช่วยในการนำเสนอ โดยภาพยนตร์ประเภทนี้ต้องอาศัยการตีความตามรูปแบบที่ผู้กำกับหรือผู้สร้างต้องการจะนำเสนอ

ซึ่งทั้งสองแนวทางนี้อาจเป็นการแบ่งประเภทของภาพยนตร์ที่ไม่ได้ดีที่สุดหรือถูกต้องที่สุด แต่ก็พอจะเป็นแนวทางในการแบ่งประเภทกันได้อย่างคร่าวๆ นอกจากนี้มีภาพยนตร์บางส่วนที่อาศัยแนวทางทั้งสองแนวทางนี้ในการนำเสนอเพื่อความบันเทิง (fiction film) หรือภาพยนตร์แนวบันเทิงคดี ซึ่งนักวิชาการทางภาพยนตร์จึงได้จัดแบ่งภาพยนตร์ประเภทนี้ว่าเป็นภาพยนตร์แนว Classical Cinema ซึ่งอยู่ตรงระหว่างภาพยนตร์ Realism และ Formalism นั่นเอง ซึ่งการให้รายละเอียดของภาพยนตร์ทั้ง 3 แบบนี้เพียงแค่นี้ คงมิอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ถึงแนวทางของภาพยนตร์เหล่านี้ได้อย่างชัดเจน เราจึงจำเป็นจะต้องขยายความเรื่องนี้ออกไปอีก ซึ่งเราจะกลับมาคุยกันได้เรื่องนี้กันอีกครั้ง

แต่นอกจากการแบ่งประเภทของภาพยนตร์ตามรูปแบบการนำเสนอ (form) แล้ว ยังมีการแบ่งประเภทของภาพยนตร์ที่เป็นที่นิมยมกันอย่างกว้างขวาง คือ การแบ่งประเภทตามเนื้อหา (content) ซึ่งตำราบางเล่มอาจจะเรียกว่า "ตระกูลของภาพยนตร์"

  • ภาพยนตร์นิยายวิทยาศาสตร์ (Sciance Fiction Film)
  • ภาพยนตร์จินตนาการ (Fantasy Film)
  • ภาพยนตร์ผจญภัย (Adventure Film)
  • ภาพยนตร์สยองขวัญ (Horror Film)
  • ภาพยนตร์ฟิล์มนัวร์ (Film Noir)
  • ภาพยนตร์เมโลดราม่า (Melodrama)
  • ภาพยนตร์ตลก (Comedy)
  • ภาพยนตร์แอ๊กชั่น (Action Film)
  • ภาพยนตร์สงคราม (War Film)
  • ภาพยนตร์คาวบอยตะวันตก (Wastern)
  • ภาพยนตร์เพลง (Musical)
  • ภาพยนตร์รักโรแมนติก (Romance)
  • ภาพยนตร์การ์ตูน (Animation)
  • ภาพยนตร์สารคดี (Documentary Film)
และตระกูลอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งการแบ่งประเภทของภาพยนตร์แบบนี้เป็นที่รู้จักกันดีอย่างกว้างขวาง เพราะง่ายต่อการจัด แต่ปัญหาก็คือ ภาพยนตร์ในยุคใหม่ๆที่มีความซับซ้อนขึ้นทางด้านเนื้อหาทำให้ภาพยนตร์หนึ่งเรื่องไม่สามารถจัดให้อยู่ในตระกูลเพียงตระกูลเดียวได้ ทำให้อาจจะเกิดความสับสนทางด้านเนื้อหาเป็นได้


นอกจากนี้ยังมีการแบ่งประเภทของภาพยนตร์ในอีกหลายแบบ เช่น จำแนกตามหน้าที่หลักของการสื่อสาร (ภาพยนตร์ข่าว, ภาพยนตร์เพื่อการศึกษา , ภาพยนตร์เพื่อโน้มน้าวชักจูงใจ , ภาพยนตร์บันเทิง) จำแนกตามกลุ่มเป้าหมาย (ภาพยนตร์สำหรับบุคลทั่วไป, ภาพยนตร์เฉพาะกลุ่มบุคคล) หรือจำแนกตามกฏหมายหรือเรตของภาพยนตร์ เป็นต้น


Animagus
...................................................................................................................................................................
อ้างอิง
  • ประวิทย์ แต่งอังกษร. มาทำหนังกันเถอะ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Bioscope. พิมพ์ครั้งที่ 3, 2556
  • ธิดา ผลิตผลการพิมพ์. เขียนบทหนังซัดคนดูให้อยู่หมัด. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ Bioscope. พิมพ์ครั้งที่ 3, 2556
  • ........... . เอกสารการสอนชุดวิชา การสร้างสรรค์และการผลิตภาพยนตร์เบื้องต้น มหาวิทยาลัยสุโขทัยรรมาธิราช. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.พิมพ์ครั้งที่ 2, 2533
  • ........... . เอกสารการสอนชุดวิชา ทฤษฎีและการวิจารณ์ภาพยนตร์เบื้องต้น มหาวิทยาลัยสุโขทัยรรมาธิราช. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.พิมพ์ครั้งที่ 1, 2548
  • http://jguest11.wordpress.com/2010/12/02/technical-changes/
  • http://filmv.wordpress.com/unit-1/%E0%B9%93-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%97%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C/
  • http://www.flickpeople.com/?p=142
  • http://www.thaidfilm.com/simple/?t12745.html

FM102 Film History : ยุคสมัยในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์

....ยุคสมัยในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์....

การแสดงหนังใหญ่ แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมการเล่าเรื่องด้วยภาพเคลื่อนไหว
และทำให้คนไทยเรียกภาพเคลื่อนไหวกันอย่างติดปากว่า "หนัง"

อายุของศิลปะแขนงที่ 7 หรือที่เราเรียกกันว่า "ภาพยนตร์" หรือ "หนัง" นี้มีอายุน้อยมากเมื่อเทียบกับศิลปะแขนงอื่นๆ เพราะประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์นั้นได้เปิดฉากขึ้นในทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 19 นี้เอง แต่ถ้าเราศึกษาความพยายามในการเล่าเรื่องโดยภาพเคลื่อนไหวของมนุษย์นั้น เราจะพบมันได้ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เสียด้วยซ้ำ เพียงแต่มนุษย์เรายังถูกจำกัดด้วยความสามารถทางการสื่อสารและเทคโนโลยีที่ล้าสมัย






วิวัฒนาการของภาพยนตร์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีความเปลี่ยนแปลงอยู่มากมาย นักวิชาการภาพยนตร์ส่วนใหญ่ที่เขียนตำราต่างๆ ได้แบ่งยุคสมัยของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไว้โดยให้ความสำคัญกับเทคนิดการสร้างได้ทั้งหมด 5 ยุค ดังนี้


  1. ยุคบุกเบิก (ค.ศ 1815 - 1895)
  2. ยุคของฟิล์มสตริปและภาพยนตร์ม้วนเดียวจบ (ค.ศ. 1896 - 1907)
  3. ยุคหนังเงียบ (ค.ศ. 1908 - 1928)
  4. ยุคหนังเสียง (ค.ศ. 1928 - 1970)
  5. ยุคหนังปัจจุบัน (ค.ศ. 1965 - ปัจจุบัน)

ประเด็นที่น่าศึกษาในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์มีอยู่มากมายพอๆกับประวัติศาสตร์ของศิลปะแขนงอื่นๆ เพราะในปัจจุบันเราปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพยนตร์มีอิทธิพลอย่างมากต่อสังคมในปัจจุบัน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ยังมีอิทธิพลอย่างมากในการสร้างหรือเปลี่ยนแปลงทัศนคติและค่านิยมของกลุ่มคน ดังนั้น เราควรศึกษาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เพื่อหาคำตอบให้ได้ว่า "อะไรทำให้ภาพยนตร์มีอิทธิพลมากมายขนาดนี้?" จากแค่ของเล่นชิ้นเล็กๆ ราคาไม่กี่สตางค์ กลางเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องลงทุนกันหลายสิบล้าน(หรือมากกว่า) จากแค่สิ่งบันเทิงราคาถูกของกรรมกรชาวเหมืองในเมืองพิตสเบิร์กของสหรัฐอเมริกา ในที่สุดกลายเป็นงานศิลปะที่ทุกชนชั้นชื่นชอบ


และอะไรคือต้นกำเนิดของสื่อที่มีอำนาจมากมายขนาดนี้....?

Animagus
...................................................................................................................................................................
อ้างอิง

  • เยาวนันท์ เชฏฐรัตน์. ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา กรมการศาสนา
  • ........... . เอกสารการสอนชุดวิชา การสร้างสรรค์และการผลิตภาพยนตร์เบื้องต้น มหาวิทยาลัยสุโขทัยรรมาธิราช. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.พิมพ์ครั้งที่ 2, 2533
  • http://filmv.wordpress.com/unit-1/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%82%E0%B8%AD-2/%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%9A-%E0%B8%84-%E0%B8%A8-1908-%E2%80%93-1928/
  • http://postproduction52.wordpress.com/2010/02/22/
  • http://www.barkandbite.net/2011/07/a-kings-journey/
  • http://www.jabchai.com/main/view_joke.php?id=9285

วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

FM101 Introduction to Film : ภาพยนตร์คือ....?

ภาพยนตร์คือ....?

การจำกัดความคำว่า "ภาพยนตร์" เป็นเรื่องน่าปวดหัวของการศึกษาภาพยนตร์อย่างหนึ่ง มีผู้ให้ความหมายของคำว่า "ภาพยนตร์" ไว้อย่างมากมายซึ่งล้วนแล้วแต่มองภาพยนตร์ในมุมมองที่แตกต่างกันไปบ้าง ปัญหาก็คือ "แล้วความหมายไหนหละ ที่จะเป็นความหมายที่แท้จริงของภาพยนตร์?"


คำตอบก็คือ ถูกทุกความหมาย นั่นเพราะเราล้วนแต่มองภาพยนตร์ในมุมมองที่แตกต่างกัน ดังนั้นความหมายของภาพยนตร์จึงแตกต่างกันไปในแต่ละมุมมอง เช่น 

นักนิเทศศาสตร์มองภาพยนตร์ว่าเป็น "สื่อหรือเครื่องมือทางการสื่อสารอย่างหนึ่ง"

นักสุนทรียศาสตร์มองภาพยนตร์ว่าเป็น "ศิลปะแขนงหนึ่ง" เป็นต้น

ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องเข้าใจความหมายของมัน เพื่อเป็นขอบเขตของการศึกษาภาพยนตร์นั่นเอง


ภาพยนตร์ : (น.) ภาพฉายด้วยเครื่องทำให้เห็นเป็นภาพเคลื่อนไหวได้,หนังฉาย นั่นคือความหมายที่ถูกให้ไว้ตามพจนานุกรม ซึ่งก็เป็นความหมายอย่างง่ายๆ 

นอกจากนี้ยังมีความหมายของภาพยนตร์ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่ให้ความหมายไว้ว่า
Film Art An Introduction
by David Bordwell & Kristin Thompson

ภาพยนตร์ หมายความว่า วัสดุ ที่ มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนํามาฉาย
ให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่รวมถึงวีดิทัศน์


ทีนี้เราลองมาดูความหมายของภาพยนตร์ ตามมุมมองของนักทฤษฎีภาพยนตร์และผู้รู้ต่างๆที่ได้ให้ไว้มากมาย ซึ่งกล่าวโดยสรุปได้ดังต่อไปนี้

ภาพยนตร์ คือ กระบวนการบันทึกภาพ แล้วนำออกฉายในลักษณะที่แสดงให้เห็นภาพเคลื่อนไหว (Motion Picture) ตามเรื่องราวที่ผู้สร้างต้องการจะสื่อสาร ซึ่งอาจเป็นเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง หรือเป็นการแสดงให้เหมือนจริง หรืออาจเป็นการแสดงและสร้างภาพจากจินตนาการของผู้สร้างก็ได้ ซึ่งกระบวนการแบบภาพยนตร์นี้มีทั้งการใช้ในรูปแบบของงานศิลปะ และงานอุตสาหกรรม

เราคงพอจะเห็นแล้วว่าการจำกัดความหรือให้ความหมายของภาพยนตร์เพียงประโยคเดียวเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร ดังนั้น ผมว่า ถ้าหากเราจะพูดถึงความหมายของภาพยนตร์แล้วหละก็ เราก็จำเป็นที่จะต้องถามตัวเองเสียก่อนว่า "เรามองภาพยนตร์จากมุมไหน?" นั่นเอง

~Animagus~
...................................................................................................................................................................
อ้างอิง

  • พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554
  • พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551
  • http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C
  • http://www.thaidfilm.com/read.php?tid=12597

วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556

FM101 Introduction to Film : การศึกษาภาพยนตร์....



...การศึกษาภาพยนตร์....

     การศึกษาภาพยนตร์ในยุคปัจจุบันนั้นเปิดกว้างอย่างมาก นับตั้งแต่ที่ Film School แห่งแรกของโลกถือกำเนิดขึ้นในชื่อ Gerasimov Institute of Cinematography ที่ประเทศรัสเซีย ในปี ค.ศ. 1919 นับเป็นการเปิดให้ทั่วโลกได้มีการศึกษาศิลปะแขนงนี้อย่างเป็นทางการ

Gerasimov Institute of Cinematography aka VGIK, is a film school in MoscowRussia

     ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาโรงเรียนสอนภาพยนตร์ต่างๆก็ถือกำเนิดขึ้นอย่างมากมายทั่วทุกมุมโลกไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทยของเรา ซึ่งในปัจจุบันมีเปิดสอนทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน ผลิตบุคคลากรในสายงานภาพยนตร์ขึ้นมามากมาย รายวิชาก็มีตั้งแต่ ภาพยนตร์เบื้องต้น , สุนทรียศาสตร์ภาพยนตร์ , เขียนบท , กำกับภาพ , การแสดง , การตัดต่อ , ทฤษฎีภาพยนตร์ , ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ และอื่นๆอีกมากมายตามที่มหาวิทยาลัยต่างๆจะเห็นสมควรให้นักศึกษาได้มีโอกาสมาร่ำเรียนกัน
การผลิตภาพยนต์ขั้นสูง
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 

แต่ปัญหาใหญ่ของการศึกษาภาพยนตร์ในประเทศไทยนั้นหาใช่เรื่องบุคคลากร แต่กลับเป็นเรื่องของตำราหรือหนังสือเรียนที่นักศึกษาจะใช้ในการเรียนการสอน อาจารย์สอนภาพยนตร์หลายท่านรู้สึกว่าตำราเรียนเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ เนื่องจากนักศึกษาไทยในยุคปัจจุบันนั้นหลายคนต่างซื้อหนังสือเพื่อประดับบารมีของการเป็นนักศึกษา หาใช่ซื้อเพื่อการศึกษาอย่างแท้จริง ดังนั้นอาจารย์ส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะไม่เขียนหรือผลิตหนังสือ อีกทั้งภาระหน้าที่ในการทำงานในมหาวิทยาลัยก็มากมายจนไม่มีเวลาที่จะให้อาจารย์ได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม หรือแม้แต่กระทั่งทำเอกสารประกอบการสอน ตำราเรียนส่วนใหญ่ที่เราเห็นกันส่วนมากก็เป็นตำราเล่มเก่าที่ถูกเขียนขึ้นหลายสิบปี หรือเป็นตำราภาษาอังกฤษที่นักศึกษาไทยที่มีความชำนาญทางด้านภาษาอังกฤษ(อย่างมาก)หามาอ่านซึ่งถูกบรรจุอยู่ในห้องสมุด

นอกจากนี้ ปัญหาของการศึกษา(ไม่ใช่แม้แต่ศึกษาภาพยนตร์) คือนักศึกษาส่วนใหญ่ไม่รู้ถึงความสำคัญของรายวิชาต่างๆที่ถูกให้เรียน ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนภาพยนตร์ที่อยากจะทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์จริงๆ รู้สึกว่า "ทำไมกูต้องมานั่นเรียนวิชาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์หรือวิชาทฤษฎีและการวิจารณ์ภาพยนตร์วะ?" มันสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวในการพยายามสร้างบุคคลากรที่ทำงานเป็น(ในอุตสาหกรรม)และรู้จักตัวตนของงาน(ภาพยนตร์)จริงๆ เราจึงมีแต่นักศึกษาหรือบุคคลากรที่ทำงานเป็น แต่ส่วนใหญ่ไม่รู้จักความเป็นภาพยนตร์อย่างถ่องแท้นั่นเอง



ดังนั้นจึงจำเป็นที่เราจะต้องหันกลับมามองการศึกษาภาพยนตร์กันอย่างจริงๆจังๆว่า
"แท้จริงแล้วเรากำลังต้องการอะไรจากการศึกษาภาพยนตร์กันแน่?"
Understanding the Film By Ron Johnson & Jan Bone
"เราศึกษาภาพยนตร์ไปเพื่ออะไร?"
"แล้วเรารู้จักภาพยนตร์แล้วจริงหรือ?"

จากเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลคือ นอกจากที่เราจะศึกษาภาพยนตร์กันในแง่ของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เรียนรู้เพื่อตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ของผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว เราควรตระหนักถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์ความเป็นมาของภาพยนตร์ สุนทรียศาสตร์ในงานภาพยนตร์ ทฤษฎีภาพยนตร์ที่มีอยู่มากมาย และการวิจารณ์ภาพยนตร์อีกด้วย เพื่อให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในศาสตร์ที่ตนเองศึกษาอย่างถ่องแท้







~ Animagus ~

...................................................................................................................................................................
อ้างอิง
  • http://en.wikipedia.org/wiki/Gerasimov_Institute_of_Cinematography
  • http://www.amazon.com/Understanding-Film-Ron-Johnson/dp/0844256951
  • http://topicstock.pantip.com/chalermthai/topicstock/A3593533/A3593533.html